สังฆปาโมกข์ (บาลีวันละคำ 1,466)
สังฆปาโมกข์
อ่านว่า สัง-คะ-ปา-โมก
ประกอบด้วย สังฆ + ปาโมกข์
(๑) “สังฆ”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ : สงฺ + ฆ = สงฺฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในภาษาไทย อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
(๒) “ปาโมกข์” บาลีเป็น “ปาโมกฺข” (ปา-โมก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มุข
1) มุข (มุ-ขะ) รากศัพท์มาจาก –
ก) มุขฺ (ธาตุ = เปิด; เป็นไป) + อ ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
ข) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” หมายถึง ปาก (the mouth), หน้า (the face)
2) ป + มุข = ปมุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “มุขประธาน” (2) “ผู้มีความเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่” (3) “ผู้เป็นหัวหน้าโดยความเป็นประธาน”
“ปมุข” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลตามศัพท์ว่า “in front of the face” (ต่อหน้า) หมายถึง ส่วนหน้า, แรก, ขึ้นหน้า, หัวหน้า, เด่น (fore-part, first, foremost, chief, prominent)
3) ปมุข + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ป-(มุข) เป็น อา (ปมุข > ปามุข), แผง อุ ที่ (ป)-มุ-(ข) เป็น โอ (ปมุข > ปโมข), ซ้อน กฺ ระหว่าง ปมุ + ข
: ปมุข > (ปมุ + กฺ + ข) > ปมุกฺข + ณ = ปมุกฺขณ > ปมุกฺข > ปามุกฺข > ปาโมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในความเป็นประมุข”
“ปาโมกฺข” มีความหมายว่า –
(1) สำคัญ, ที่หนึ่ง, ดีเลิศ, วิเศษ, เด่น; ผู้นำ (chief, first, excellent, eminent; a leader)
(2) หันหน้าไปทางตะวันออก (facing east)
สงฺฆ + ปาโมกฺข = สงฺฆปาโมกฺข > สังฆปาโมกข์ หมายถึง ภิกษุผู้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นหัวหน้าภิกษุสงฆ์ในเขตใดเขตหนึ่ง
“สังฆปาโมกข์” เคยเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการในอดีต เช่น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง) ที่สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต เป็นต้น
ตำแหน่ง “สังฆปาโมกข์” บัดนี้เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแล้ว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆว่า –
“สังฆปาโมกข์ : (คำนาม) หัวหน้าสงฆ์. (ป.).”
: เมื่อตามหลัง อย่าขัดขา
: เมื่อนำหน้า อย่าลังเล
————
(ตามคำขอของ ทรงวุฒิ ช่างเจรจา)
7-6-59