บาลีวันละคำ

โกลาหล (บาลีวันละคำ 1,465)

โกลาหล

อ่านว่า โก-ลา-หน

โกลาหล” บาลีอ่านว่า โก-ลา-หะ-ละ รากศัพท์มาจาก โกล (ความเป็นอันเดียวกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + หลฺ (ธาตุ = ได้) + ปัจจัย

: โกล + อา = โกลา + หลฺ = โกลาหล + = โกลาหล แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ได้ความเป็นอันเดียวกัน” (คือเมื่อเกิดภาวะนั้นขึ้น คนจะตื่นใจไปยังจุดเดียวกัน)

โกลาหล” หมายถึง เสียงตะโกน, เสียงอึกทึกครึกโครม, ความตื่นเต้น, ความโกลาหล, ความสังหรณ์, การตักเตือน, การร้องเรียก (shouting, uproar, excite-ment about, tumult, foreboding, warning about something, hailing)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โกลาหล : (คำนาม) เสียงกึกก้อง. (คำวิเศษณ์) อื้ออึง, เอิกเกริก, วุ่นวาย, (คำโบราณ; คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) ใช้เป็น โกลา โกลี ก็มี เช่น เสียงโห่โกลาเกรียงไกร. (คําพากย์), พระกุมารโกรธใจเป็นโกลี. (ไชยเชฐ). (ป., ส.).”

ในคัมภีร์กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชาวโลกเกิดโกลาหล (ความตื่นเต้น) ว่ามี 5 อย่าง คือ –

1. กัปปโกลาหล เกิดก่อนโลกแตกแสนปี

2. จักกวัตติโกลาหล เกิดก่อนมีพระเจ้าจักรพรรดิร้อยปี

3. พุทธโกลาหล เกิดก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติพันปี

4. มงคลโกลาหล เกิดก่อนพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องมงคลสิบสองปี

5. โมเนยยโกลาหล เกิดก่อนพระพุทธเจ้าตรัสโมไนยปฏิปทา (หลักปฏิบัติของนักปราชญ์) เจ็ดปี

: เมื่อจิตนิ่ง แม้แต่ลิงยังหลับ

: เมื่อจิตสับปลับ โลกจึงโกลาหล

6-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย