นะโม พุทธายะ (บาลีวันละคำ 2,765)
นะโม พุทธายะ
คำไหว้ครู
เขียนแบบบาลีเป็น “นโม พุทฺธาย”
อ่านว่า นะ-โม พุด-ทา-ยะ
มีคำบาลี 2 คำ คือ “นโม” และ “พุทฺธาย”
(๑) “นโม”
อ่านว่า นะ-โม รูปคำเดิมเป็น “นม” (นะ-มะ) รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม) + อ ปัจจัย
: นมฺ + อ = นม แปลว่า การนอบไหว้, ความนอบน้อม, ความเคารพ (homage, veneration)
หลักความรู้ทางไวยากรณ์ :
คำว่า “นโม” ในทางไวยากรณ์จัดว่าเป็นคำพิเศษ ตำราบางเล่ม (เช่น อภิธานปฺปทีปิกาฏีกา คาถาที่ 426 หน้า 298) บอกว่า เป็น อะ-การันต์ คือรูปคำเดิมเป็น “นม” (นะ-มะ) แจกด้วยวิภัตตินาม เปลี่ยนรูปเป็น “นโม” แต่ก็เป็น โอ-การันต์ด้วย คือรูปคำเดิมเป็น “นโม” อยู่แล้ว จะแจกด้วยวิภัตติหรือไม่แจกก็เป็น “นโม” อยู่นั่นเอง
รูปคำ “นโม” ปกติแปลกันว่า “อันว่าความนอบน้อม” แปลอย่างนี้บ่งว่า “นโม” เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์
แต่ในที่บางแห่ง (เช่น คัมภีร์มโนรถปูรณี [อรรถกถาอังคุตรนิกาย] ภาค 2 หน้า 158) มีคำว่า “นโม กเรยฺย” แปลว่า “พึงทำซึ่งความนอบน้อม” กรณีเช่นนี้“นโม” ใช้เป็นทุติยาวิภัตติ
ที่ว่ามานี้เป็นหลักไวยากรณ์ ผู้ไม่มีพื้นมาก่อนฟังไว้พอแนว
(๒) “พุทฺธาย”
อ่านว่า พุด-ทา-ยะ รูปคำเดิมเป็น “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” (ปุงลิงค์; คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
หลักความรู้ทางไวยากรณ์ :
“พุทฺธ” กลายเป็น “พุทฺธาย” ได้อย่างไร?
ความที่ประสงค์จะพูดในที่นี้คือ “ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า” คำว่า “แด่พระพุทธเจ้า” คือ “แก่พระพุทธเจ้า” จึงต้องเอา “พุทฺธ” ไปแจกด้วยวิภัตตินามที่มีคำแปลว่า “แก่”
วิภัตตินามที่มีคำแปลว่า “แก่” คือวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) ซึ่งมีคำแปลว่า “แก่-, เพื่อ-, ต่อ-”
ตัวอย่าง อะ-การันต์ในปุงลิงค์ที่แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ เอกพจน์ (ในที่นี้มุ่งถึงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว) ก็คือ “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) เปลี่ยนรูปเป็น —
“ปุริสสฺส, ปุริสาย, ปุริสตฺถํ” (ปุริสัสสะ, ปุริสายะ, ปุริสัตถัง)
เอา “พุทฺธ” ไปแจกเทียบ เปลี่ยนรูปเป็น —
“พุทฺธสฺส, พุทฺธาย, พุทฺธตฺถํ” (พุทธัสสะ, พุทธายะ, พุทธัตถัง)
…………..
ถึงตอนนี้จะรู้สึกได้แล้วว่า-การท่องหลักไวยากรณ์ได้แม่นยำมีคุณูปการแก่การเรียนบาลีอย่างไร และการไม่รู้หลักหรือท่องหลักไม่ได้จะมีปัญหาอย่างไร
เพราะที่อธิบายมานี้ ผู้ที่ไม่เคยรู้หลักไวยากรณ์มาก่อนจะอ่านแทบไม่รู้เรื่องเลย
…………..
ในที่นี้ ท่านเลือกใช้รูปคำว่า “พุทฺธาย” (ดูข้างต้น) เมื่อนำมารวมกับ “นโม” จึงได้รูปประโยคเป็น “นโม พุทฺธาย”
แปลยกศัพท์ :
นโม = อันว่าความนอบน้อม
(เม = ของข้าพเจ้า, อตฺถุ = จงมี)
พุทฺธาย = แด่พระพุทธเจ้า
แปลโดยพยัญชนะ :
อันว่าความนอบน้อม (ของข้าพเจ้า จงมี) แด่พระพุทธเจ้า
แปลโดยอรรถ :
ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า
“นโม พุทฺธาย” โบราณเรียกว่า “หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์” หนังสือเก่าๆ นิยมเขียนหรือพิมพ์ไว้ที่หน้าต้น นับถือกันว่าเป็นคำไหว้ครูที่ประเสริฐนัก
…………..
อภิปราย :
โปรดทราบว่า “นโม” กับ “พุทฺธาย” เป็นคนละคำกัน เมื่อเอาเขียนรวมกันเป็นประโยคจึงต้องแยกกันเป็น “นโม พุทฺธาย” ไม่ใช่ “นโมพุทฺธาย”
เทียบคล้ายกับ the กับ sun เป็นคนละคำกัน จึงต้องแยกกันเป็น the sun ไม่ใช่ thesun
“นโม พุทฺธาย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “นะโม พุทธายะ” (พุท– ไม่ต้องมีจุดใต้ ท)
ย้ำ – “นะโม พุทธายะ” ไม่ใช่ “นะโมพุทธายะ”
และไม่ใช่ “นะโมพุทธา ยะ”
“พุทธายะ” (พุทฺธาย) เป็นคำเดียวกัน ไม่ใช่ “พุทธา” คำหนึ่ง “ยะ” อีกคำหนึ่ง
จึงต้องเขียนเป็น “พุทธายะ” (พุทฺธาย)
ไม่ใช่ “พุทธา ยะ”
โปรดดูภาพประกอบ
จะเห็นว่า ภาพหนึ่งเขียนเป็น “นะโมพุทธายะ” ไม่แยกระหว่าง “นะโม” กับ “พุทธายะ”
อีกภาพหนึ่งเขียนเป็น “นะโมพุทธา ยะ” ไม่แยกระหว่าง “นะโม” กับ “พุทธายะ” เหมือนกัน แต่ไพล่ไปแยก “ยะ” ออกจาก “พุทธา”
เหล่านี้คือความไม่รู้
แต่ลึกลงไปคือ ความไม่ยอมรับรู้
ฉันจะเขียนของฉันแบบนี้ ผิดถูกฉันไม่รับรู้
หลายๆ ฉบับอ้างหัวชนกำแพงว่า “หนังสือเขาเขียนแบบนี้ ฉันเอามาจากหนังสือ”
จึงใครขอร้องมายังบรรดาท่านที่มีศรัทธาขยันเขียนขยันพิมพ์แจกจ่ายเผยแผ่ให้แพร่หลาย ว่า
๑ กรุณาอย่าอ้างต้นฉบับหรืออ้างหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น ความเชื่อที่ว่าต้นฉบับเขียนอย่างไร ต้องเขียนต้องพิมพ์ไปตามนั้น แก้ของท่านไม่ได้ เป็นบาป ขอให้เลิกกันทีเถิดเจ้าประคุณ
๒ พอใจจะพิมพ์จะเผยแพร่ข้อความว่าอย่างไร กรุณาเอาข้อความนั้นๆ ไปสอบถามผู้รู้ทางภาษาบาลีก่อน
ขอย้ำว่า “ผู้รู้ทางภาษาบาลี” ไม่ใช่ท่านเจ้าคุณโน่น ท่านอาจารย์นั่น แต่ต้องเป็น “ผู้รู้ทางภาษาบาลี” เท่านั้น
๓ สำหรับโรงพิมพ์หรือผู้รับจ้างทำป้ายทำศิลาจารึก ถ้ามีข้อความที่เป็นภาษาบาลี กรุณาอย่าเห็นแก่เงินหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว ให้เห็นแก่ความถูกต้องด้วย อย่าอ้างแบบหัวชนกำแพงว่าเจ้าภาพเขาเขียนมาอย่างนี้ ต้นฉบับที่เขาให้มาเป็นอย่างนี้ เขาจะเอาอย่างนี้
เพราะท่านนั่นเองที่เป็นตัวการทำให้ข้อความผิดๆ แพร่หลายกระจายออกไป
จึงขอร้องว่า ให้รู้จักต่อรองกับเจ้าภาพเรื่องความถูกต้องบ้าง เช่นถามย้ำว่า ตรงนี้สะกดอย่างนี้ วรรคตอนอย่างนี้ ถูกต้องแน่นะ ตรวจสอบหรือยัง จะให้โรงพิมพ์หรือทางร้านตรวจสอบให้เอาไหม
ประเด็นนี้เคยมีผู้แก้ตัวแทนโรงพิมพ์หรือร้านรับจ้างว่า-ร้านพวกนี้ช่างมันเป็นพม่า ไม่ก็เป็นพวกจบอาชีวะ มันจะไปรู้อะไร
พอแก้ให้อย่างนี้ เลยได้สิทธิ์ผลิตคำผิดๆ เผยแพร่ได้เต็มที่ต่อไป
แทนที่จะช่วยกันอุดหนุนกำลังใจให้คนของเรามีอุตสาหะในการศึกษาเรียนรู้พัฒนาตัวเอง กลายเป็นช่วยทำให้งมจมอยู่กับความไม่รู้ต่อไป
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยโดนมาแล้ว-เดี๋ยวนี้ก็ยังโดนอยู่-ว่า เขาไม่รู้ จะไปโทษเขาไม่ได้ คุณรู้ คุณก็ต้องบอกเขา เป็นความผิดของคุณที่ไม่บอกเขา
แต่ตอนที่บอกจนปากจะฉีก – เขาอุตส่าห์ปากเปียกปากแฉะบอกคุณแล้ว หัดฟังเขาบ้างสิ – แบบนี้ไม่ยักมีใครไปพูดกับคนฟังบ้าง
ในบ้านเมืองเรานี้ คนที่ก้มหน้าก้มตาเรียนบาลีก็เรียนกันไป คนที่ผลิตคำผิดออกเผยแพร่ก็ขยันผลิตกันเข้าไป มองหาคนที่จะช่วยกันแก้ไข ไม่มี
จึงขอประกาศว่า ใครจะผลิตภาษาบาลีออกเผยแพร่ ถ้าหาคนตรวจสอบให้ไม่ได้ กรุณาแจ้งมาที่ผู้เขียนบาลีวันละคำ ยินดีตรวจให้โดยไม่คิดราคาใดๆ ทั้งสิ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่เรียนจึงไม่รู้
แค่ไหว้ครูจึงดูเคอะ
: นะโมพุทธาเยอะ –
อย่าให้เจอะเลยนะเจ้าประคุณ
#บาลีวันละคำ (2,765)
7-1-63