กฎหมายกับวินัยพระ ใครใหญ่กว่ากัน
กฎหมายกับวินัยพระ ใครใหญ่กว่ากัน
————————————–
มีคำบาลีอยู่คำหนึ่ง คือ “ปุราณทุติยิกา”
อ่านว่า ปุ-รา-นะ-ทุ-ติ-ยิ-กา
แปลตามศัพท์ว่า “หญิงคนเก่าผู้เป็นที่เต็มแห่งสองคน”
หมายถึง หญิงที่เคยเป็นภรรยา (the former wife)
คำว่า “เป็นที่เต็มแห่งสองคน” แปลจากคำว่า “ทุติยิกา” หมายถึง เป็นคนที่สองในบ้านรองจากสามี ซึ่งก็คือ ภรรยา
คำว่า “ปุราณทุติยิกา” เป็นคำวัดแท้ ยังไม่เคยได้ยินใครพูดหรือเอามาใช้กันในภาษาไทย
“ปุราณทุติยิกา” โดยความหมายก็คือ หญิงที่เป็นภรรยาของชายคนใดคนหนึ่ง แล้วต่อมาเลิกร้างกัน ภาษาบาลีมีคำเรียกหญิงที่อยู่ในสถานะเช่นนี้ว่า “ปุราณทุติยิกา” แปลความตามตัวว่า “เมียเก่า”
ในกรณีที่สามีไปบวชเป็นภิกษุ ในคัมภีร์ก็ใช้คำเรียกภรรยาว่า “ปุราณทุติยิกา” เช่นกัน
กรณีเช่นนี้น่าลงความเห็นได้ว่า ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป การที่สามีออกบวชถือว่ามีผลเท่ากับเลิกร้างหรือหย่าร้างกันแล้ว
ประเด็นนี้มีปัญหาน่าคิด กล่าวคือ –
……………………………………….
ในพระวินัยบัญญัติว่า
ในกรณีที่ภิกษุมรณภาพลง
บริขารส่วนตัวทั้งหมดให้ตกเป็นของสงฆ์
……………………………………….
สมมุติว่า ภิกษุรูปนั้นมีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันมาก่อนและยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ถ้าภรรยาซึ่งตามภาษาพระวินัยเรียกว่า “ปุราณทุติยิกา” ยื่นคำร้องต่อศาลไทยขอเป็นผู้รับมรดก ศาลจะตัดสินให้บริขารของภิกษุนั้นตกเป็นของ “ปุราณทุติยิกา” ได้หรือไม่
น่าคิดว่า วินัยสงฆ์กับศาลใครจะใหญ่กว่ากัน?
จะอ้างหลัก “ราชูนํ อนุวตฺติตุํ” (ทรงอนุญาตให้ภิกษุปฏิบัติโดยอนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง) ได้หรือไม่?
ใครที่ห่วงพระ ห่วงวัด ห่วงพระศาสนา อย่าห่วงแต่ปาก ขอฝากให้ช่วยคิดช่วยทำ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย
ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วเถียงกันไม่จบ
ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารการพระศาสนาโปรดพิจารณาเป็นพิเศษ นี่เป็นหน้าที่โดยตรงของท่าน
ไม่ต้องรอให้มีคนสั่งให้ทำ
แต่คิดขึ้นได้เองว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ มกราคม ๒๕๖๕
๑๕:๑๙
………………………………………
กฎหมายกับวินัยพระ ใครใหญ่กว่ากัน