บาลีวันละคำ

ปรนิมมิตวสวัตดี (บาลีวันละคำ 3,513)

ปรนิมมิตวสวัตดี

สวรรค์ชั้นที่หก

อ่านว่า ปะ-ระ-นิม-มิด-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี ก็ได้ 

อ่านว่า ปอ-ระ-นิม-มิด-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี ก็ได้ 

(ตามพจานุกรมฯ)

ปรนิมมิตวสวัตดี” บาลีเป็น “ปรนิมฺมิตวสวตฺตี” (-นิมฺ– มีจุดใต้ มฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปะ-ระ-นิม-มิ-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี (ภาษาไทย -วัต-ดี ด เด็ก บาลี -วตฺ-ตี ต เต่า) แยกศัพท์เป็น ปร + นิมฺมิต + วส + วตฺตี

(๑) “ปร” 

บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other) 

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในภาษาไทยใช้ว่า “ปร-” เหมือนบาลี (ขีดท้ายคำบ่งว่าใช้นำหน้าคำอื่น ไม่ใช้เดี่ยวๆ) อ่านว่า ปะ-ระ- และ ปอ-ระ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปร– : (คำวิเศษณ์) อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).”

(๒) “นิมฺมิต” 

บาลีอ่านว่า นิม-มิ-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มา (ธาตุ = วัด, กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, ซ้อน มฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + มฺ + มา), แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ

: นิ + มฺ + มา = นิมฺมา + = นิมฺมาต > นิมฺมิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาวัดเอาไว้” หมายถึง วัดเอาไว้, กะแผน, วางแผน; เนรมิต [โดยอิทธิฤทธิ์]; สร้างสรรค์, ดลบันดาล (measured out, planned, laid out; created [by supernatural power, iddhi]; measured, stately)

นิมฺมิต” เป็นรูปกิริยากิตก์ รูปกิริยาอาขยาตสามัญ (กัตตุวาจก ปัจจุบันกาล ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “นิมฺมินาติ” (นิม-มิ-นา-ติ) 

เพื่อให้เห็นความหมายของ “นิมฺมิต” ชัดขึ้น ขอให้ดูความหมายของ “นิมฺมินาติ” ที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ 

นิมฺมินาติ : to measure out, fashion, build, construct, form; make by miracle, create, compose; produce, lay out, plan (วัดไว้, บันดาล, สร้าง, ประกอบขึ้น, เนรมิต; สร้างด้วยฤทธิ์, วางรูป, ประดิษฐ์; ผลิต, วางแผน) 

(๓) “วส” 

อ่านว่า วะ-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = ติดใจ, ชอบใจ) + (อะ) ปัจจัย

: วสฺ + = วส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความติดใจ” หมายถึง กำลัง, อำนาจ, การควบคุม, อิทธิพล (power, authority, control, influence)

บาลี “วส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วสะ : (คำนาม) อํานาจ, กําลัง; ความตั้งใจ, ความปรารถนา. (ป.; ส. วศ).”

(๔) “วตฺตี” (วัด-ตี) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี)

: วตฺตฺ + ณี > อี = วตฺตี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไป” “ผู้ยัง-ให้เป็นไป” หมายถึง มีธุรกิจ, มีอำนาจ, ทำ, กระทำ (engaged in, having power over, making, doing)

การประสมคำ :

ปร + นิมฺมิต = ปรนิมฺมิต (ปะ-ระ-นิม-มิ-ตะ) แปลว่า “สิ่งที่ผู้อื่นเนรมิตไว้

วส + วตฺตี = วสวตฺตี (วะ-สะ-วัด-ตี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยัง-ให้เป็นไปในอำนาจเป็นปกติ

วสวตฺตี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กรณีที่เป็นผู้ทำ: มีความหมายว่า มีอำนาจสูงสุด, ใช้อำนาจเหนือ, ใช้อำนาจสิทธิ์ขาด, มีอำนาจเต็มที่ (having highest power, domineering, autocrat, all-mighty)

(2) กรณีที่เป็นผู้ถูกทำ: มีความหมายว่า อยู่ในอำนาจ, ต้องอาศัย, อยู่ในบังคับ (being in one’s power, dependent, subject)

บาลี “วสวตฺตี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วสวัดดี” (-วัดดี  ด เด็ก) และ “วสวัตตี” (-วัตตี ต เต่า) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วสวัดดี, วสวัตตี : (คำนาม) ผู้ยังสัตว์ให้อยู่ในอํานาจ; ชื่อของเทวบุตรมาร. (ป.).”

ปรนิมฺมิต + วสวตฺตี = ปรนิมฺมิตวสวตฺตี (ปะ-ระ-นิม-มิ-ตะ-วะ-สะ-วัด-ตี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในโภคะอันผู้อื่นรู้ความต้องการแล้วเนรมิตให้” (2) “เทพผู้ยังอำนาจของตนให้เป็นไปในโภคะอันเทพอื่นเนรมิตให้

ปรนิมฺมิตวสวตฺตี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรนิมมิตวสวัตดี” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ปรนิมมิตวสวัตดี : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๖ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าววสวัตดีมารเป็นผู้ครอง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ – 

ปรนิมมิตวสวัตดี : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๖ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าววสวัตดีมารเป็นผู้ครอง. (ดู ฉกามาพจร ประกอบ).”

โปรดสังเกตและเปรียบเทียบคำนิยามของพจนานุกรมฯ ทั้ง 2 ฉบับ แล้วศึกษาวิธีคิดของคณะกรรมการผู้จัดทำ

สวรรค์ชั้นอื่น ในพจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 คำว่า “มี … เป็นผู้ครอง” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 จะแก้เป็น “มี … เป็นใหญ่ในชั้นนี้” (เพื่อความแน่นอน โปรดตรวจสอบ)

แต่ที่คำว่า “ปรนิมมิตวสวัตดี” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “มีท้าววสวัตดีมารเป็นผู้ครอง” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ก็ยังคงใช้ตามคำเดิม ไม่แก้เป็น “มีท้าววสวัตดีมารเป็นใหญ่ในชั้นนี้

ทำไม? ถ้าไม่ใช่เผลอไปจึงแก้ไม่หมด เหตุผลควรจะเป็นเช่นไร?

ถ้าเรารู้เหตุผล ก็จะได้ความรู้และเกิดปัญญา

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปรนิมมิตวสวัตดี” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปรนิมมิตวสวัตดี : สวรรค์ชั้นที่ ๖ มีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีปกครอง เทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ต้องนิรมิตเอง มีเทวดาอื่นนิรมิตให้อีกต่อหนึ่ง; พระยามารวสวัตดี เป็นเทพแห่งสวรรค์ชั้นนี้

…………..

ได้ความตามนี้ว่า พระยามารวสวัตดีที่ตามรังควานพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ เป็นเทพแห่งสวรรค์ชั้นนี้ แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ เพราะสวรรค์ชั้นนี้มีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีปกครอง

ในจำพวกโลกิยภูมิ 3 (คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) “ปรนิมมิตวสวัตดี” อยู่ในจำพวกกามาวจรภูมิ ถ้าเรียกตามคำที่เรานิยมเรียกกันว่า “เทวดา” หรือ “เทวโลก” ก็เป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นสูงสุด สูงจากนี้ขึ้นไปก็จะเป็นพวกที่เรานิยมเรียกกันว่า “พรหม” อยู่ในจำพวกรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ ซึ่งเราเรียกกันว่า “พรหมโลก”

แต่โปรดทราบว่า ในบาลี ท่านใช้คำเรียกรวมว่า “เทวา” หมายถึงทั้ง “เทวดา” และ “พรหม” และใช้คำเรียกรวมว่า “สคฺค” (สวรรค์) หมายถึงทั้ง “เทวโลก” และ “พรหมโลก”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากอิ่มต้องกินเอง อย่ารอให้ใครกินแทน

: อยากได้บุญต้องทำเอง อย่ารอให้ใครเนรมิตให้

#บาลีวันละคำ (3,513)

24-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *