บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

คำขอร้องของนักเรียนบาลีแก่ๆ คนหนึ่ง (๐๑๑)

คำขอร้องของนักเรียนบาลีแก่ๆ คนหนึ่ง (๐๑๑)

———————————–

เมื่อวานนี้ (๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม – Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya – ท่านยกเอาเรื่องนางวิสาขาทูลขอพร ๘ ประการจากพระพุทธเจ้ามาแสดง 

ใจความของพรที่ขอก็คือ ขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝนและถวายภัตตาหารแก่ภิกษุในกรณีต่างๆ รวมทั้งถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุณี รวมเป็น ๘ เรื่องด้วยกัน 

รายละเอียดขอผ่านไปก่อน ท่านผู้สนใจโปรดหาทางศึกษากันต่อไป

ประเด็นที่ทำให้ผมต้องเขียนเรื่องนี้ก็คือ ข้อความตอนหนึ่งในตอนต้นเรื่องที่นางวิสาขากราบทูลและพระพุทธองค์ตรัสตอบ ความว่าดังนี้ 

……………….

นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา

……………….

ผมสะดุดใจคำว่า “ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว” 

นี่แหละครับคือประเด็น 

ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว” ตีความได้ว่า เคยให้พรมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้เลิกให้แล้ว

คำว่า “ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว” หมายความว่า อย่ามาขอพรอะไรอีกเลย ถึงขอก็ไม่ให้ เพราะตถาคตเลิกให้พรแล้ว

แต่เมื่อตามไปดูเรื่องนี้ให้ตลอด ปรากฏว่าเมื่อนางวิสาขากราบทูลอธิบายเหตุผลที่ทูลขอพร พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามที่ขอ

กลายเป็นขัดแย้งกันเอง 

ตอนแรกตรัสว่า เลิกให้พรแล้ว

ตอนหลังก็ประทานพรให้ตามที่ขอ

ทางที่ดีก็คือ ตามไปดูต้นฉบับบาลี

ต้นฉบับภาษาบาลีตรงนี้มีข้อความว่า – 

……………….

อฏฺฐาหํ  ภนฺเต  ภควนฺตํ  วรานิ  ยาจามีติ  ฯ 

อติกฺกนฺตวรา  โข  วิสาเข  ตถาคตาติ  ฯ

ที่มา: จีวรขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ 

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๕๓

……………….

คำว่า “เลิกให้พรเสียแล้ว” แปลมาจากคำว่า “อติกฺกนฺตวรา

คำถามคือ “อติกฺกนฺตวรา” มีความหมายว่าอย่างไร?

———————

เหตุผลที่ยกเรื่องนี้มาเขียน ไม่ใช่เพราะอยากจะขอให้ช่วยกันหาคำตอบว่า “อติกฺกนฺตวรา” ที่แปลว่า “เลิกให้พรเสียแล้ว” เป็นคำแปลที่ถูกต้องแน่หรือ คำแปลที่ถูกต้องคืออย่างไร 

นั่นก็ใช่ ก็ด้วย 

แต่ผมมีคำขอร้องหรือร้องขอที่มากกว่านั้น

ในพระไตรปิฎก พระคัมภีร์ พระธรรมวินัย – จะใช้คำไหนก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน – มีปัญหาทำนองนี้อยู่ทั่วไป 

อติกฺกนฺตวรา” เป็นแค่กรณีศึกษา (case study) เท่านั้น 

คำแปลที่ผิดพลาดทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน และนำไปสู่การปฏิบัติที่เลื่อนเปื้อนต่อไป 

แล้วจะทำอย่างไรกัน?

นี่คือภาระหน้าที่ของคนเรียนบาลี

แต่ที่น่าวิตกใหญ่หลวงก็คือ คนเรียนบาลีในบ้านเรายังไม่รู้สึกตัวกันเลยว่า-นี่คือภาระหน้าที่ของเรา 

เราเรียนบาลีกันอย่างจริงจัง 

แต่เราไม่ได้บอกกันให้ชัดเจนถูกต้องว่า เรียนเอาไปทำไม 

ฝรั่งที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเลย เขาก็เรียนบาลี 

แต่เขาไม่ได้เรียนเพื่อเอาประโยค ๘ ประโยค ๙ 

เขาเรียนเอาความรู้ 

พอมีความรู้แล้วก็มุ่งหน้าไปที่พระไตรปิฎกทันที

จึงปรากฏว่า ฝรั่งเรียนพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง เอาความรู้จากพระไตรปิฎกมาทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อย่างเป็นมาตรฐานเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก 

ในขณะที่นักเรียนบาลีของเรามัวแต่ภาคภูมิใจกับการจบประโยค ๙ 

ได้เป็นเปรียญเอกอุหรือได้เป็นนาคหลวง 

แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น 

ไปไม่ถึงพระไตรปิฎก

ทั้งๆ ที่เป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีก็คือ-ศึกษาพระไตรปิฎก

ก็อย่างที่ผมเคยเปรียบเทียบบ่อยๆ-เหมือนคนที่เรียนจบหมอแล้วไม่ยอมรักษาคนไข้ เอาแต่ภูมิใจว่า-ฉันเป็นหมอ 

จึงต้องขอร้องซ้ำๆ อีกว่า เรียนบาลีแล้วมุ่งหน้าไปที่พระไตรปิฎกกันนะขอรับ – ที่นั่นมีงานรออยู่เพียบ 

หัวข้อพระธรรมที่น่าสนใจ

หลักพระวินัยที่น่ารู้

ศัพท์วิชาการพระพุทธศาสนาที่คนมักเข้าใจผิด

คำแปลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนสมควรปรับแก้

ฯลฯ

กรุณาอย่าสงสัยว่า หยิบจับงานพวกนี้แล้วได้ประโยชน์อะไร

พระไตรปิฎก พระคัมภีร์ พระธรรมวินัย คือตัวพระศาสนา

ศึกษาตัวพระศาสนาคือหน้าที่หลักของผู้เข้ามาอยู่ในพระศาสนา

จะเรียนปริญญาตรี-โท-เอก เพื่อเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต มีคำว่า ดร. นำหน้าหรือต่อท้าย ก็เอา ไม่ว่ากัน ขออนุโมทนาด้วย 

แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่หลัก คือศึกษาพระไตรปิฎก พระคัมภีร์ พระธรรมวินัย

ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ก็เอาคำว่า “อติกฺกนฺตวรา” ไปเป็นทำเป็นการบ้าน 

———————

ผมเคยบันทึกเรื่องคำว่า “อติกฺกนฺตวรา” ไว้เป็นงานวิชาการ นานมาแล้ว 

พอมาเจอคำแปล “ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว” ที่คุณ Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya ยกมาแสดง ก็หยุดกึก 

กลับไปค้นดู ไม่เจอ ไม่ทราบว่าเอาไปเก็บไว้ใน folder ไหน 

ต้องลงมือตรวจสอบ ศึกษา สืบค้นใหม่ 

แต่ที่แน่ใจแน่ๆ ก็คือ “อติกฺกนฺตวรา” ไม่ได้หมายถึง “เลิกให้พรเสียแล้ว” 

นี่ไงครับคืองานของนักเรียนบาลี 

เรียนบาลีต้องสนุกกับงานศึกษาสืบค้นพระไตรปิฎก สนามปฏิบัติการของเราอยู่ที่นั่น

จะเรียนเอาประโยค ๙ เอานาคหลวง ก็เอา เห็นด้วยครับ อนุโมทนาด้วย 

เอาให้ได้ ไปให้ถึง

แต่ต้องเอางานศึกษาสืบค้นพระไตรปิฎกด้วย 

ต้องไปให้ถึงที่นั่นด้วย 

งานนี้คืองานรักษาสืบทอดพระศาสนาโดยตรง 

เป็นหน้าที่โดยตรงของนักเรียนบาลี

ผมอายุ ๗๕ แล้ว ยังศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกทุกวัน

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน

เอาความรู้มาปฏิบัติขัดเกลาตัวเองเป็นเบื้องต้นทุกวัน

แล้วบอกกล่าวเผยแผ่ให้แพร่หลายเป็นเบื้องต่อไปทุกวัน

งานนี้คืองานรักษาสืบทอดพระศาสนาโดยตรง 

นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ สติปัญญายังเชี่ยว กำลังวังชายังสดชื่น มีอยู่เป็นอันมาก 

ท่านเหล่านี้ทำงานรักษาพระศาสนาได้ดีมีประสิทธิภาพกว่าผมหลายเท่าตัว

ลงมือสิขอรับ มัวรออะไรอยู่

นี่เป็นคำขอร้องของนักเรียนบาลีแก่ๆ คนหนึ่ง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒

๑๔:๑๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *