อนุสาวรีย์ (บาลีวันละคำ 347)
อนุสาวรีย์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“อนุสาวรีย์ : สิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สําคัญเป็นต้น เช่น อาคาร หลุมฝังศพ รูปปั้น”
พจน.ไม่ได้บอกที่มาของคำว่าเป็นภาษาอะไร แต่รูปร่างเป็นบาลีสันสกฤตแน่นอน
“อนุ” แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
“สาวรีย์” บาลีไม่มีคำรูปนี้ มีแต่ “สาราณีย” แปลว่า “อันควรแก่การนึกถึง- ระลึกถึง” คำนี้ความหมายตรงกับ “อนุสาวรีย์” แต่รูปคำไม่ตรงกัน (สาราณีย–สาวรีย คือต่างกันที่ “สาร-” กับ “สาว-”)
ถ้าจะเป็น “-สาว-” บาลีมีคำว่า “อนุสาวนีย” แปลว่า “ควรแก่การกล่าวประกาศ-บอกข่าว” รูปคำ “-สาว-” ตรงกัน คือ –สาว(นีย)-สาว(รีย) แต่ความหมายไม่ตรงกัน
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ประทานความเห็นว่า “อนุสาวรีย์” ควรมาจากคำสันสกฤตว่า “อนุสฺมาร” (อะ-นุ-สฺ-มา-ระ = ระลึกเนืองๆ) ลง อนีย ปัจจัย แล้วเปลี่ยนรูปเป็น “อนุสามรีย์” แล้วเพี้ยนเป็น “อนุสาวรีย์”
“อนุสาวรีย์” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า memorial
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล memorial เป็นบาลีว่า “อนุสารกวตฺถุ” แปลว่า “สิ่งอันเป็นเครื่องระลึกถึงเนืองๆ”
เป็นอันว่า มีคำที่เกี่ยวข้องคือ memorial = อนุสารกวตฺถุ-อนุสาราณีย-อนุสามรีย-อนุสาวรีย = อนุสาวรีย์
ผู้รู้ท่านบอกว่า “อนุสาวรีย์” เป็น “คำเพี้ยนที่ใช้ได้” คือผิดจนถูกไปแล้ว
โบราณท่านว่า : แมวหนึ่ง หมาหนึ่ง ไก่หนึ่ง คนเพี้ยนๆ หนึ่ง
สี่อย่างนี้ วัดไหนไม่มี วัดนั้นไม่ใช่วัด
บาลีวันละคำ (347)
24-4-56
อนุสาวรีย์
[อะนุสาวะรี] น. สิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สําคัญเป็นต้น เช่น อาคาร หลุมฝังศพ รูปปั้น.
อนุสารี ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ติดตาม,ตามไป,ตามระลึก.
อนุสาวน นป.
การกล่าวประกาศ,การบอกข่าว.
อนุสาเรติ ก.
ให้ระลึกถึง; ให้นำมารวมกัน, ให้เป็นไปตาม.
อนุสรติ ก.
(ก) ย่อมระลึกถึง, ย่อมตามไป; (ข) ย่อมระลึกตาม, ย่อมระลึกไปตามเหตุ; (ค) ย่อมเป็นไปด้วยดี, ย่อมประพฤติดี; (ฆ) ย่อมระลึกเพราะอาศัยเหตุ
อนุสฺสรณ การอนุสรณ์, การระลึกถึง, ความทรงจำ
อนุสฺสรติ จำได้, ระลึกถึง, มีความทรงจำ, จำใส่ใจ, ตระหนัก
(บาลี-อังกฤษ)
อนุสร
[อะนุสอน] ก. ระลึก, คํานึงถึง. (ป. อนุสฺสร).
อนุสรณ์
น. เครื่องระลึก, ที่ระลึก.ก. ระลึก, คำนึงถึง. (ป. อนุสฺสรณ).
สาราณีย ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
อันควรแก่การนึกถึง- ระลึกถึง, น่าปลื้มใจ
memorial อนุสาวรีย์, อนุสรณ์, เครื่องระลึกถึง
memory ความทรงจำ
(สอ เสถบุตร)
memorial อนุสารกวตฺถุ, นิเวทนปณฺณ, สตุปฺปาทก, สารูปก
(พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)
สมารฺตฺต อันเป็นสัมพันธินแก่ความจำ memorial, relating to memory
(สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
อนุสาวรีย์-อนุสรณีย์ โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ
อนุสาวรีย์-อนุสรณีย์
คำในภาษาไทยที่เรายังไม่ทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ดูรูปเป็นคำบาลีหรือสันสกฤต แต่ก็หาที่มาของคำให้แน่นอนลงไปไม่ได้ นั่นคือ คำว่า “อนุสาวรีย์” ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ว่า “น. วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึก.” ส่วนในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ ๒ ความหมายดังนี้ “น. สิ่งที่ควรระลึกถึง, วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึก.” แต่ในการประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรมในตอนหลัง ท่านเก็บไว้เพียงความหมายเดียว คือ ความหมายที่ว่า “วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึก” เท่านั้น และท่านก็มิได้บอกว่าคำนี้เป็นคำบาลีหรือสันกฤต แสดงว่าในภาษาบาลีและสันสกฤต ไม่มีคำนี้ใช้ เป็นคำที่เราได้บัญญัติขึ้นใช้เอง
คำว่า “อนุสาวรีย์” นี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ทรงให้ข้อคิดเห็นไว้ดังนี้
“คำว่า อนุสาวรีย์ สมัยนี้ บางท่านสงสัย เพราะว่าไม่มีคำเช่นนี้ในภาษาบาลีสันกฤต ที่หมายถึง ถาวรวัตถุเพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงชอบที่จะใช้คำว่า อนุสรณ์ แทน แต่ อนุสรณ์ แปลว่า ที่ระลึก ซึ่งมีความหมายกว้างไป ที่ใช้อนุสาวรีย์ เป็นอันใช้ได้แล้ว โดยถือว่าเป็นคำภาษาไทยที่ใช้กันติดแล้วและใช้กันแพร่หลายแล้ว
“อนุสาวรีย์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ นิยามว่า “น. สิ่งที่ควรระลึกถึง, วัตถุที่สร้างไว้เป็นที่ระลึก.” โดยมิได้บอกที่มาของคำนี้ไว้ ถ้าจะเทียบกับภาษาสันสกฤต ก็พึงเทียบคำว่า “อนุ-สฺวาร” (อะ-นุ-สฺ-วา-ระ) ซึ่งแปลว่า เสียงตาม ไม่ใช่ ระลึกถึง ถ้าจะให้หมายถึง ระลึกถึง ก็พึงใช้คำ “อนุสฺมาร” (อะ-นุ-สฺ-มา-ระ) เป็น “อนุสามรีย์” แต่คำมีที่มาอย่างไร เป็นเรื่องของบัณฑิต ไม่ใช่เรื่องของคนทั่วไป สำหรับคนทั่วไป ถ้าใช้กันแพร่หลายเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ ฉะนั้น เมื่อพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำ “อนุสาวรีย์” ไว้ว่า วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึก ก็ย่อมถือว่าเป็นคำภาษาไทยที่ใช้ได้ นี่แหละเป็นคำที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “คำเพี้ยนที่ใช้ได้”
ตามที่ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ประทานความคิดเห็นเกี่ยวกับคำว่า “อนุสาวรีย์” ว่าอาจเพี้ยนมาจากคำ “อนุสามรีย์” โดยออกเสียงตัว ม เพี้ยนเป็นตัว ว ก็ได้ ทำให้คิดไปถึงคำว่า “อัตโนมัติ” ซึ่งเราเขียนเลียนเสียงคำว่า automatic นั้น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงให้ความเห็นไว้ดังนี้
“คำเพี้ยนที่ใช้ได้อีกคำหนึ่งซึ่งใช้กันอยู่มาก ก็คือ อัตโนมัติ ซึ่งเป็นคำแปลภาษาอังกฤษว่า automatic อันที่จริง “อัตโนมัติ” แปลว่า ความเห็นส่วนตัว ความเห็นโดยลำพังตน มัติ แปลว่า ความเห็น แต่ automatic แปลว่า เป็นไปเอง มิได้แปลว่า ความเห็น อะไรเลย ถ้าใช้ “อัตโนวัติ” ก็จะใกล้กับคำภาษาอังกฤษมากกว่า แต่เสียงจะไกลออกไป ฉะนั้น จึงใช้ “อัตโนมัติ” กันอย่างแพร่หลายทีเดียว พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ ๒๔๙๓ จึงได้เติมความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นไปได้ในตัวของมันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมถือว่าเป็นคำเพี้ยนที่ใช้ได้”
เมื่อ ว กับ ม บางทีก็ใช้สับกันได้เช่นนี้ เช่น คำว่า automatic ควรจะใช้ว่า “อัตโนวัติ” ก็กลายเป็น “อัตโนมัติ” ไปได้ฉันใด คำว่า “อนุสามรีย์” ก็น่าจะกลายเป็น “อนุสาวรีย์” ได้ฉันนั้น
ส่วนที่มีบางคนเห็นว่าคำว่า “อนุสาวรีย์” หาที่มาไม่ได้ จึงใช้คำว่า “อนุสรณีย์” แทน อย่างนี้จะผิดไหม ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ผิด เพราะตามรูปศัพท์ก็แปลว่า “ควรแก่การระลึกถึง” เพียงแต่ความหมายไม่หนักแน่น เหมือนคำว่า “อนุสาวรีย์” เท่านั้นเอง.
ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๘๓-๓๘๕.