ไอศูรย์ (บาลีวันละคำ 349)
ไอศูรย์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า ไอศูรย์ คือ
“ไอศวรรย์”
ดูที่ “ไอศวรรย์” (ไอ-สะ-หฺวัน) บอกว่า ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน; อํานาจ; สมบัติแห่งพระราชาธิบดี, ใช้ว่า ไอศุริย หรือ ไอศูรย์ ก็มี
และบอกว่า สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย” บาลีเป็น “อิสฺสริย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า ไอศฺวรฺย คือ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า อิสฺสริย (อิด-สะ-ริ-ยะ) คือ ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง rulership, mastership, supremacy, dominion
และบอกว่า อิสฺสริย มาจาก “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ)
ดูที่ “อิสฺสร” บอกว่า ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า lord, ruler, master, chief
บาลี จาก “อิสฺสร” เป็น “อิสฺสริย” เป็นสันสกฤตว่า “ไอศฺวรฺย” แล้วเป็นไทยว่า “ไอศูรย์”
กระบวนการทางไวยากรณ์แบบพอเข้าใจง่ายๆ :
อิ เป็น ไอ, ศฺวรฺ เป็น ศูรฺ :ไอศฺวรฺ = ไอศูรฺ = ไอศูรฺย แล้วเขียนแบบไทยเป็น “ไอศูรย์” อ่านแบบไทยว่า ไอ-สูน ความหมายเด่นในภาษาไทยคือ ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน, ความเป็นใหญ่
: ใหญ่เพื่อตัวเอง ไป่ยงยืน ใหญ่เพื่อผู้อื่น อยู่ยืนยง
—————
(จากเมตตาเสนอแนะของพระคุณเจ้า อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)
บาลีวันละคำ (349)
26-4-56