บาลีวันละคำ

อาสุํ อานนฺทราหุลา (บาลีวันละคำ 1,998)

อาสุํ อานนฺทราหุลา

ไม่ใช่ — ราหุโล

อาสุํ อานนฺทราหุลา” เป็นข้อความบาทหนึ่งในพระคาถาชินบัญชร ข้อความเต็มๆ ของพระคาถาบทนี้มีดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

ทกฺขิเณ  สวเน  มยฺหํ…….อาสุํ  อานนฺทราหุลา

กสฺสโป  จ  มหานาโม……อุภาสุํ  วามโสตเก.

เขียนแบบคำอ่าน :

ทักขิเณ  สะวะเน  มัยหัง…อาสุง  อานันทะราหุลา

กัสสะโป  จะ  มะหานาโม..อุภาสุง  วามะโสตะเก.

คำแปล :

ขอเชิญพระอานนท์กับพระราหุล

ประดิษฐานที่หูเบื้องขวา

พระมหากัสสปะกับพระมหานามะ

ทั้งคู่อยู่ที่หูเบื้องซ้ายของข้าพเจ้า

…………

พระคาถาบาทนี้เท่าที่เห็นมา ส่วนมากจะเป็น อาสุํ  อานนฺทราหุโล

ศัพท์ว่า –ราหุโล เป็นเอกพจน์ แต่ศัพท์กริยาในประโยคนี้ คือ อาสุํ (แปลว่า มีแล้ว, เป็นแล้ว) เป็นพหูพจน์

ตามหลักบาลีไวยากรณ์ ศัพท์ที่เป็นประธานกับกริยาต้องมีวจนะตรงกัน ถ้าจะแก้ประธาน (อานนฺทราหุโล) ให้มีวจนะตรงกับกริยา (อาสุํ) คำว่า “อานนฺทราหุโล” ต้องเป็น “อานนฺทราหุลา” และถ้าจะแก้คำกริยา (อาสุํ) ให้มีวจนะตรงกับนาม (อานนฺทราหุโล) คำว่า “อาสุํ” ก็ต้องเป็น “อสิ” หรือ “อาสิ

พูดเต็มๆ ว่า ถ้า “อาสุํ” ต้องเป็น “อานนฺทราหุลา” (อาสุํ อานนฺทราหุลา) แต่ถ้า “อานนฺทราหุโล” ก็ต้องเป็น “อสิ” (อสิ  อานนฺทราหุโล)

ถามว่า ระหว่าง “–ราหุโล” เป็น “–ราหุลา” กับ “อาสุํ” เป็น “อสิ” นั้น หากจะมีการเขียนผิดเพี้ยนพลั้งเผลอเกิดขึ้น อย่างไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน

พินิจตามตัวอักษรแล้วจะเห็นว่า “” เป็น “อา” แล้วยังต้องทำให้ “สิ” เป็น “สุํ” อีกด้วยนั้น ยากกว่า “ลา” เป็น “โล” ไม่ว่าคนเขียนจะเมาหรือง่วงขนาดไหนก็ตาม พูดในทางกลับกัน เผลอเขียน “ลา” เป็น “โล” ง่ายกว่าเผลอเขียน “อสิ” เป็น “อาสุํ

และถ้านึกถึงความเป็นจริงที่ว่า พระคาถาชินบัญชรนั้นต้นฉบับเดิมเขียนเป็นอักษรขอม ก็จะหายสงสัยทันทีว่าทำไม “ลา” จึงเป็น “โล” ได้ง่ายๆ

คือ คำที่ประกอบด้วยเสียงสระ โอ เช่น โค โส หรือ โล  นั้น เมื่อเขียนตามอักขรวิธีของอักษรขอม จะประกอบด้วยสระ เอ กับสระ อา คือ แล้วมีพยัญชนะตัวนั้นๆ อยู่ตรงกลาง เช่น –

เคา” อ่านว่า โค

เสา” อ่านว่า โส

เลา” อ่านว่า โล

คำที่เขียนว่า “เลา” ซึ่งจะต้องอ่านว่า “โล” อาจกลายเป็น “ลา” หรือ “เล” ได้ง่ายมาก ถ้าลบสระ เอ ก็กลายเป็น “ลา” ถ้าลบสระ อา ก็กลายเป็น “เล

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ คำว่า “ลา” หรือ “เล” ก็อาจกลายเป็น “โล” ได้ง่ายมาก คือ ถ้าเผลอเติมสระ เอ เข้าไปข้างหน้า “ลา” ก็เป็น “เลา” หรือเติมสระ อา เข้าไปข้างหลัง “เล” ก็เป็น “เลา” อีกเช่นกัน และ “เลา” ก็คือ “โล

เพราะฉะนั้น “–ราหุลา”  จึงกลายเป็น “–ราหุโล” ได้ง่ายด้วยประการฉะนี้

ส่วน “อสิ” ที่จะกลายเป็น “อาสุํ” ตามวิธีเขียนอักษรขอมนั้นเป็นไปได้ยากมาก

ที่ว่ามานี้เป็นเหตุผลในทางหลักการเขียนตัวอักษรขอม แต่ถ้าเอาหลักบาลีไวยากรณ์เข้ามาจับด้วยแล้วก็จะแน่นอนยิ่งขึ้น กล่าวคือ คำนามตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปเมื่อนำมาสมาสกัน จะต้องเป็นพหุวจนะเสมอ

ในที่นี้คำนามคือ “อานนฺโท” (พระอานนท์) และ “ราหุโล” (พระราหุล) เป็นเอกวจนะ (เอกพจน์) เมื่อเอามารวมกัน ร่ายสูตรตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่า –

อานนฺโท จ ราหุโล จ = อานนฺทราหุลา

แปลว่า “พระอานนท์ด้วย พระราหุลด้วย ชื่อว่า อานนฺทราหุลา (พระอานนท์และพระราหุลทั้งหลาย)”

คำว่า “อานนฺทราหุลา” เป็นพหุวจนะ (พหูพจน์)

พูดเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นอีกว่า พระอานนท์องค์เดียว ภาษาบาลีจะต้องเป็น “อานนฺโท” (เอกพจน์) จะเป็น “อานนฺทา” (พหูพจน์) ไม่ได้ พระราหุลองค์เดียว ภาษาบาลีจะต้องเป็น “ราหุโล” จะเป็น “ราหุลา” ไม่ได้

แต่เมื่อกล่าวถึงพระอานนท์และพระราหุลรวมในคำเดียวกัน “อานนฺโท” จะต้องเป็น “อานนฺท-”  ตามกฎเกณฑ์ของบาลีไวยากรณ์ และไปรวมกับ “ราหุโล” เป็น “อานนฺทราหุโล” แต่คราวนี้ไม่ใช่มีแต่พระราหุลองค์เดียว แต่มีพระอานนท์ด้วย ดังนั้น “ราหุโล” จะคงเป็น “ราหุโล” (เอกพจน์) อยู่ไม่ได้ ถ้าเป็น “–ราหุโล” ก็จะหมายถึงพระราหุลองค์เดียว ผิดความเป็นจริง เพราะมีคำว่า “อานนฺท–” รวมอยู่ข้างหน้าด้วย จึงต้องเป็น  “อานนฺทราหุลา

เพราะฉะนั้น ศัพท์ที่ถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์ก็คือ “อานนฺทราหุลา” ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์ คำกิริยา “อาสุํ” ที่เป็นพหูพจน์ก็เป็นการยืนยันอยู่แล้วในตัว

ระยะแรกๆ ที่พระคาถาชินบัญชรปรากฏตัวสู่สายตาของสังคม มีผู้ย้ำยืนยันว่า คำนี้ต้องเป็น “อาสุํ  อานนฺทราหุโล” คือต้องเป็น —โล จะเป็น–ลา ไม่ได้ เนื่องจากต้นฉบับเขียนเช่นนี้ จะไปแก้ของท่านไม่ได้ เป็นความจงใจของเจ้าของพระคาถาที่จะเขียนเช่นนี้ จะต้องคงไว้ตามนี้ (แม้เวลานี้ก็น่าจะยังมีผู้ยืนยันเช่นนี้อยู่บ้าง)

แต่ถ้าเอาหลักวิชาบาลีไวยากรณ์เข้าไปจับ ก็จะเห็นได้ทันทีว่า ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ท่านผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรจะแต่งให้ผิดหลักไวยากรณ์ ทั้งยังผิดหลักความเป็นจริงอีกด้วย

เป็นการอ้างเหตุผลเพราะไม่เข้าใจเหตุผลโดยแท้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงใช้ความรู้แก้ไขความเข้าใจผิด

: แต่อย่าใช้ความเข้าใจผิดแก้ไขความรู้

#บาลีวันละคำ (1,998)

1-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย