บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๑)

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๑)

————————————

ภูมิศาสตร์ในพุทธประวัติ

ผมบอกว่า-เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินนี้มีเงื่อนแง่หลายอย่างที่น่าสนใจ จบเรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์แล้วค่อยยกเงื่อนแง่เหล่านั้นมาคุยกัน

ตอนนี้ก็น่าจะถึงเวลาคุยกันแล้ว 

เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินมีเงื่อนแง่หลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น –

………..

เรื่องที่ ๑ 

………..

เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินหมายสังหารพระพุทธองค์ มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก เท่าที่พบคือ – 

(1) คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก ตอนสังฆเภทขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๗๒

พระไตรปิฎกตอนนี้บรรยายรายละเอียดไว้ว่า 

…………………..

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏบรรพต ครั้งนั้น พระเทวทัตขึ้นสู่คิชฌกูฏบรรพตแล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ด้วยหมายใจว่า จักปลงพระชนม์พระสมณโคดมด้วยศิลานี้ ยอดบรรพตทั้งสองน้อมมารับศิลานั้นไว้ สะเก็ดกระเด็นจากศิลานั้นต้องพระบาทของพระผู้มีพระภาคทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นแล้วขณะนั้น 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแหงนขึ้นไปได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอสั่งสมบาปมิใช่บุญไว้มากนัก เพราะมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า ยังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑ ที่เทวทัตสั่งสมแล้ว เพราะเธอมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า ทำโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น ….

…………………..

(2) สกลิกสูตรในคัมภีร์สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒ และข้อ ๔๕๒ พระสูตรชื่อเดียวกันและอยู่ในหมวดสคาถวรรคด้วยกันทั้ง ๒ สูตร เป็นเรื่องว่าด้วยพระบาทของพระพุทธองค์ถูกสะเก็ดหินกระทบได้รับบาดเจ็บสาหัส 

ข้อ ๑๒๒ กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาเฝ้าในเวลากลางคืนที่สวนมัททกุจฉิ ข้อ ๔๕๒ กล่าวถึงมารมาเฝ้า 

แต่ในตัวพระสูตรไม่ได้กล่าวถึงว่าพระเทวทัตกลิ้งหิน และไม่ได้ระบุว่าพระบาทถูกสะเก็ดหินกระทบได้รับบาดเจ็บสาหัสเนื่องมาจากเหตุอะไร 

แต่อรรถกถาของพระสูตรนั้น (สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๗-๑๐๘) ขยายความว่า พระบาทได้รับบาดเจ็บเนื่องจากกรณีพระเทวทัตกลิ้งหิน

(3) คัมภีร์อปทาน ตอนพุทธาปทาน ส่วนที่เรียกว่า “ปุพพกัมมปิโลติ” (ว่าด้วยกรรมในอดีตชาติของพระพุทธองค์) พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒ มีพระพุทธดำรัสตรัสเล่าเป็นคำร้อยกรองว่า

…………………..

เวมาตุ ภาตรํ ปุพฺเพ 

ธนเหตุ หนึ อหํ 

ปกฺขิปึ คริทุคฺเคสุ 

สิลาย จ อปึสยึ. 

ในปางก่อน เราได้ฆ่าน้องชายต่างมารดา

เพราะเหตุแห่งทรัพย์ 

จับโยนลงในซอกเขา

แล้วเอาหินถมทับ 

เตน กมฺมวิปาเกน 

เทวทตฺโต สิลํ ขิปิ 

องฺคุฏฺฐํ ปึสยิ ปาเท 

มม ปาสาณสกฺขรา. 

ด้วยวิบากกรรมนั้น

พระเทวทัตจึงกลิ้งหินใส่ 

สะเก็ดหินมากระทบ

นิ้วหัวแม่เท้าเรา

…………………..

คัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกที่บันทึกเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินและพระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บ เท่าที่พบก็มีเท่านี้ 

ในจำนวนนี้ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ แห่งเดียวที่บรรยายรายละเอียด อีก ๒ แห่งพูดถึงเพียงผ่านๆ ไม่มีรายละเอียด

………..

เรื่องที่ ๒

………..

หมอชีวกรักษาโรคให้ใครบ้าง? 

รักษาโรคปวดศีรษะภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต 

รักษาโรคริดสีดวงของพระเจ้าพิมพิสาร 

รักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ 

รักษาโรคลำไส้ของลูกชายเศรษฐีเมืองพาราณสี 

รักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชตเมืองอุชเชนี

รักษาโรคท้องผูกหรือไขมันในเส้นเลือดของพระพุทธองค์ด้วยการถวายยาระบาย 

ผลงานของหมอชีวกตามรายการดังกล่าวนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก 

แต่เรื่องที่หมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์จากกรณีพระเทวทัตกลิ้งหิน ไม่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก 

แต่ไปมีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา 

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่เล่ารายละเอียดคือ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔: ชีวกวัตถุ = เรื่องหมอชีวก 

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่เล่าถึงพระเทวทัตกลิ้งหิน คือ สารัตถปกาสินี ภาค ๑ อรรถกถาสกลิกสูตร หน้า ๑๐๗-๑๐๙ เล่าเหตุการณ์เหมือนกับในคัมภีร์จุลวรรค (ในเรื่องที่ ๑ ข้อ (1) ข้างต้น) แต่เล่าต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า พอเกิดเหตุ พวกภิกษุก็พาพระพุทธองค์ไปพักที่สวนมัททกุจฉิ 

แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่หมอชีวกมารักษา

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่กล่าวถึงหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์ แต่ไม่ได้เล่ารายละเอียด เพียงแต่เอ่ยถึง ก็คือ คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค ๓ หน้า ๖๒๖ อรรถกถาพหุธาตุกสูตร และคัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค ๑ หน้า ๖๒๐ อรรถกถาอัฏฐานบาลี เอ่ยถึงแต่เพียงว่าหมอชีวกผ่าตัดแผลที่พระบาทและทำให้อาการบาดเจ็บหายเป็นปกติ

เรื่องที่ ๑ และเรื่องที่ ๒ ตามที่ผมยกมาเป็นเงื่อนแง่นี้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่มีข้อสังเกตตรงที่ –

เรื่องพระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก

เรื่องพระพุทธองค์ได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บ ไม่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก แต่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา 

ท่านผู้ใดมีอุตสาหะ-โดยเฉพาะท่านที่เรียนบาลี-จะช่วยกันศึกษาสืบค้นต่อไปอีก ก็จะเป็นกุศลอย่างยิ่ง บางทีอาจพบข้อมูลเพิ่มขึ้นจากที่ผมสรุปไว้นี้ก็เป็นได้ ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการอีกอย่างหนึ่ง

………..

เรื่องที่ ๓

………..

เรื่องภูมิศาสตร์ของสถานที่ ๓ แห่ง คือ เขาคิชฌกูฏ สวนมัททกุจฉิ และ ชีวกัมพวัน น่าจะมีใครทำแผนที่หรือแผนผังเพื่อให้รู้ว่าสถานที่ไหนอยู่ตรงไหน 

แค่บอกว่า-สถานที่ทั้ง ๓ แห่งอยู่ไม่ไกลกัน ยังไม่พอครับ

ชาวพุทธในเมืองไทย เมื่อเอ่ยถึงชื่อสถานที่ดังกล่าวนี้ก็ได้แต่จินตนาการ-อยู่ไม่ไกลกัน แต่นึกภาพไม่ออก นึกออกก็ไม่ชัด

อย่างในอรรถกถาสามัญผลสูตร (คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๒๔) ให้ข้อมูลไว้ว่า ชีวกัมพวันอยู่ระหว่างกำแพงเมืองราชคฤห์กับเขาคิชฌกูฏ และบอกว่าตอนพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ชีวกัมพวัน เสด็จออกจากเมืองโดยประตูด้านตะวันออก 

ก็แปลว่าเขาคิชฌกูฏอยู่ทางตะวันออกของเมืองราชคฤห์ ถ้าออกจากเมืองไปเขาคิชฌกูฏจะต้องผ่านชีวกัมพวัน 

ข้อมูลเหล่านี้ เขียนออกมาเป็นแผ่นที่หรือแผนผังหน้าตาจะเป็นอย่างไร? 

ถ้าใครทำขึ้นมาได้ จะเป็นมหากุศลแก่บรรดาชาวพุทธในเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง เวลาศึกษาพุทธประวัติจะได้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกเป็นอันมาก

อาจเรียกงานชิ้นนี้ว่า “ภูมิศาสตร์ในพุทธประวัติ” 

เป็นงานที่ท้าทายนะครับ 

ไปเรียนที่อินเดีย เราก็ไปกันมาจนทางเป็นเทือก

ไปไหว้พระในอินเดีย เราก็ไปกันคึกๆ 

วัดไทยในอินเดียเราก็สร้างกันมากแล้ว 

ช่วยกันทำ “ภูมิศาสตร์ในพุทธประวัติ” ขึ้นอีกสักเรื่องหนึ่งได้ไหม 

ไม่ใช่เฉพาะที่ราชคฤห์ แต่ทั่วทั้งชมพูทวีป 

ในคัมภีร์กล่าวถึงสถานที่อะไร เมืองอะไร ช่วยกันสำรวจแล้วทำภูมิศาสตร์ออกมาให้ละเอียด 

จะกี่เดือนกี่ปีจึงจะสำเร็จก็ช่างมัน ขอให้ลงมือทำ 

จากค่านิยมไปไหว้พระที่อินเดีย ขอให้ช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง-ไปศึกษาภูมิศาสตร์พุทธประวัติที่อินเดีย 

ถ้าคณะสงฆ์หรือผู้บริหารการพระศาสนาของเรายกเรื่องนี้ขึ้นเป็นภารกิจสำคัญ โอกาสที่จะทำสำเร็จก็มีมากขึ้น 

ถ้ายังไม่เคยคิดจะทำอะไรให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง ขอฝากให้ช่วยคิดทำเรื่องนี้สักเรื่องนะขอรับ 

กราบแทบเท้าหละ

……………………

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินยังมีต่อนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ เมษายน ๒๕๖๓

๑๔:๔๑

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———–

ภาพประกอบ: จาก google 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *