บาลีวันละคำ

อนันดา (บาลีวันละคำ 2,606)

อนันดา

อยากรู้ไหมว่าเป็นภาษาอะไร?

เราคงได้เคยเห็นคำว่า “อนันดา” ที่เป็นชื่อคน ชื่อบริษัท หรือชื่ออาคารที่พักอาศัยเป็นต้นกันมาบ้างแล้ว

เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า “อนันดา” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร

บางคนบอกว่า “อนันดา” เป็นภาษาอังกฤษ สะกดว่า Ananda อ่านว่า อะ-นัน-ดา

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ทราบว่า ในภาษาอังกฤษแท้ๆ มีคำที่สะกดว่า Ananda หรือเปล่า และถ้ามี คำนี้แปลว่าอะไร

แต่ในหมู่นักศึกษาภาษาบาลี เมื่อเห็นคำที่สะกดว่า Ananda จะเข้าใจกันดีว่าหมายถึงคำว่า “อานนฺท” อ่านว่า อา-นัน-ทะ

แต่คำว่า “อานนฺท” ในภาษาบาลีนี้เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน ผู้รู้ท่านกำหนดให้สะกดเป็น Ānanda

โปรดสังเกตว่า Ānanda สะกดเหมือน Ananda ต่างกันที่ตัว A มีขีดข้างบน = Ā ไม่ใช่ A ธรรมดา

ในภาษาอังกฤษ ตัว A (a) ออกเสียงเป็น อะ หรือ อา ก็ได้

แต่ภาษาบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรโรมันซึ่งเป็นอักษรชนิดเดียวกับที่ใช้ในภาษาอังกฤษ –

(1) ในกรณีที่ต้องการให้ A (a) ออกเสียงเป็น “อา” เท่านั้น ท่านกำหนดให้เติมขีดไว้ข้างบนเป็น Ā (ā) เป็นการบังคับว่าออกเสียงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก “อา”

(2) ในกรณีที่ A (a) ออกเสียงเป็น “อะ” ก็ให้ใช้ A (a) ธรรมดา ดังนั้น A (a) ธรรมดาจึงออกเสียงเป็น “อา” ไม่ได้ ต้องออกเสียงเป็น “อะ” เท่านั้น

Ananda ถ้าเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ที่สะกดอย่างนี้ อาจออกเสียงว่า อะ-นัน-ดา, อะ-นัน-ดะ, อา-นัน-ดา หรือ อา-นัน-ดะ

แต่ Ānanda ที่เป็นภาษาบาลีต้องออกเสียงว่า อา-นัน-ดะ จะออกเสียงว่า อะ-นัน-ดา หรือ อะ-นัน-ดะ ไม่ได้ เพราะ –

– Ā (มีขีดบน) บังคับให้เป็น อา-

– a หลัง d ไม่มีขีดบน ดังนั้น da จึงอ่านว่า ดา ไม่ได้ ต้องอ่านว่า ดะ

Ānanda อ่านตามอักษรโรมันว่า อา-นัน-ดะ แต่ภาษาบาลีในไทย อักษร ทหาร ในบาลี ใช้อักษรโรมันตัว D = ด ไม่ใช่ T = ท อย่างที่เราคุ้นกัน พูดสั้นๆ ว่าในบาลี D = ท ทหาร ดังนั้น Ānanda จึงเท่ากับคำว่า “อานนฺท” อ่านว่า อา-นัน-ทะ

Ānanda นี่เองเมื่อคนทั่วไปเอาไปเขียนเป็นอักษรโรมัน (ที่มักพูดกันผิดๆ ว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”) ก็จะสะกดเป็น Ananda ไม่มีขีดบน A เพราะแบบอักษรทั่วไปไม่มีชนิดที่ A มีขีดบนเป็น Ā ประกอบกับคนทั่วไปก็ไม่ทราบหลักเกณฑ์การใช้ขีดบนอักษรโรมันเมื่อเขียนภาษาบาลีดังที่ว่าไว้ข้างต้น

ด้วยเหตุดังกล่าว Ānanda จึงกลายเป็น Ananda และคนรุ่นใหม่ที่คุ้นกับคำอังกฤษมากกว่าบาลี พอเห็น Ananda ก็พากันอ่านว่า อะ-นัน-ดา บางคนออกเสียงเป็น อะ-นัน-ด้า ก็มี

ไม่มีเค้าของ “อานนฺท” หรือ “อานนท์” เหลืออยู่เลย

อานนฺท” (อา-นัน-ทะ) ในภาษาบาลี รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = อย่างยิ่ง, มาก) + นนฺทฺ (ธาตุ = ยินดี) + (อะ) ปัจจัย

: อา + นนฺทฺ = อานนฺทฺ + = อานนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง” หมายถึง ความยินดี, ความเพลิดเพลิน, ความสุขเกษม, ความปราโมทย์ (joy, pleasure, bliss, delight)

“อานนฺท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อานนท์” และ “อานันท์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อานนท์ ๑, อานันท์ : (คำนาม) ความเพลิดเพลิน, ความยินดี, ความปลื้มใจ, มักใช้เป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น จิตกานนท์. (ป., ส.).”

อานนท์” ที่มักพบได้บ่อยๆ คือที่เป็นส่วนท้ายของนามสกุล โดยเฉพาะนามสกุลพระราชทาน ที่ลงท้ายว่า “–านนท์” ถ้าตามไปดูอักษรโรมันที่กำกับมาด้วยก็จะพบว่าลงท้ายด้วย …ānanda ก็คือ Ānanda คำนี้แล

ส่วน “อนันดา” Ananda จะแปลว่ากระไร ขอเชิญท่านทั้งหลาย-โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชื่อนี้หรือเกี่ยวข้องกับชื่อนี้-โปรดสืบหาความหมายเอาเอง เทอญ

…………..

อภินันทนาการ :

Ananda Mahidol

พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าอายที่จะยอมรับว่ารู้มาผิด

: เพราะการคงความรู้ผิดๆ ไว้น่าอายกว่า

#บาลีวันละคำ (2,606)

1-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย