บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๓)

แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๓)

————————————

มาถูกทาง แต่ยังไปไม่สุดทาง

………..

เรื่องที่ ๖

………..

เมื่ออยากรู้เรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธเจ้า ทำให้ต้องค้นคัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา 

นอกจากจะเจอ (บางทีก็ไม่เจอ) เรื่องที่ต้องการรู้แล้ว หลายครั้งก็พลอยได้รู้เรื่องอื่นๆ ไปด้วย – ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เก็บได้ตามรายทาง

เช่น-พระเทวทัตทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก ใครรู้บ้าง

ในคัมภีร์สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒ มีพระสูตรชื่อสกลิกสูตร ว่าด้วยพระบาทถูกสะเก็ดหิน ตัวพระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงว่าเกิดจากเหตุอะไร 

แต่อรรถกถา (คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๘) ขยายความว่า เกิดจากพระเทวทัตกลิ้งหิน อรรถกถาบอกด้วยว่า – 

“มหาถามวา กิเรส ปญฺจนฺนํ หตฺถีนํ พลํ  ธาเรติ.” 

แปลว่า “ว่ากันว่าพระเทวทัตมีแรงมหาศาล ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก” 

เพราะฉะนั้น พระเทวทัตคนเดียวจึงกลิ้งหินก้อนใหญ่ไหว 

นักเรียนบาลีคงนึกถึงอีกคนหนึ่งที่ทรงกำลังแบบนี้ นั่นคือนางวิสาขา 

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๓ หน้า ๖๗ วิสาขาวัตถุ เรื่องนางวิสาขา บอกไว้ว่า – 

“วิสาขา กิร ปญฺจนฺนํ หตฺถีนํ ถามํ ธาเรติ.” 

แปลว่า “ว่ากันว่านางวิสาขาทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก” 

ธัมมปทัฏฐกถาเล่าว่า วันหนึ่งนางวิสาขากับพวกสาวใช้กลับจากฟังเทศน์ เดินผ่านพระลานหลวง พระราชาต้องการจะพิสูจน์ความจริง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างวิ่งเข้าใส่ พอช้างมาถึงตัว นางวิสาขาใช้นิ้ว ๒ นิ้วจับงวงช้างแล้วผลักไป 

สำนวนต้นฉบับท่านว่า – 

“หตฺถี อตฺตานํ สณฺฐาตุํ นาสกฺขิ, ราชงฺคเณ อุกฺกุฏิโก หุตฺวา ปติ.” 

แปลให้เห็นภาพว่า – แค่นางวิสาขาผลักเบาๆ ช้างเซ ก้นจ้ำเบ้า 

“อุกฺกุฏิโก หุตฺวา ปติ” แปลว่า “ก้นจ้ำเบ้า” ไม่ใช่สำนวนผมนะครับ เป็นสำนวนบาลีสนามหลวงแปลออกสอบ

สรุปว่า มนุษย์ที่มีกำลังเท่าช้างมีอยู่จริง 

………..

เรื่องที่ ๗

………..

พระสูตรที่แสดงถึงบทบาทของหมอชีวกอีกพระสูตรหนึ่งก็คือ สามัญผลสูตร อยู่ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๙๑-๑๔๐ เป็นเรื่องที่หมอชีวกนำเสด็จพระเจ้าอชาตศัตรูไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ชีวกัมพวัน

มาเจอเงื่อนแง่เอาตอนที่อ่านคำแปลอรรถกถาของพระสูตรนี้

อรรถกถาของพระไตรปิฎกที่แปลเป็นไทยครบชุดแล้ว คือ “พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล” ชุด ๙๑ เล่มของมหามกุฏราชวิทยาลัย 

สามัญผลสูตรอยู่ในเล่มที่ ๑๑ หน้า ๓๖๓ ข้อความที่แปลเป็นดังนี้ – 

… สวนอัมพวันของหมอชีวกอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับภูเขาคิชฌกูฏต่อกัน. พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันตก …

ในเว็บไซต์ 84000 ที่เผยแพร่พระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งหนังสือธรรมะต่างๆ ก็เอาไปเผยแพร่ตามนี้ (ดูภาพประกอบ)

…………………..

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=2#%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B5_%E0%B9%94_%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87

…………………..

อรรถกถาสามัญผลสูตร ฉบับภาษาบาลี (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๒๓, ฉบับ budsir 7 หน้า ๑๓๗) บอกว่า 

“โส ปาจีนทฺวาเรน นิกฺขมิตฺวา ปพฺพตจฺฉายาย ปาวิสิ.” 

คำว่า “ปาจีน” แปลว่า “ตะวันออก” (eastern) 

ภาษาไทยที่เราคุ้นกันดี ก็อย่างชื่อจังหวัด “ปราจีนบุรี” แปลว่า เมืองทางตะวันออก ปราจีน- ก็เป็นคำเดียวกับ ปาจีน-

ภาษาบาลีในอรรถกถาข้างต้นแปลว่า “พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก เสด็จเข้าไปในเงาของภูเขา”

ต้นฉบับเป็น “ปาจีนทฺวาเรน” = “ทางประตูทิศตะวันออก”

แต่ที่แปลและพิมพ์เผยแพร่เป็น “ทางประตูทิศตะวันตก”

จนถึงวันนี้ก็ยังแปลอย่างนี้และเผยแพร่อย่างนี้ จะว่าอย่างไรกันดี 

คนอ่านส่วนใหญ่ ย่อมอ่านตามฉบับแปล น้อยนัก-จะว่าเป็นศูนย์เลยก็ได้-ที่จะตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาบาลี 

เพราะฉะนั้น คนอ่านส่วนใหญ่ก็จะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดชนิดตรงกันข้าม 

แล้วจะทำอย่างไรกัน? 

คงไม่ต้องมัวมาโทษกันว่า แปลผิด พิมพ์ผิด ไม่รู้จักตรวจสอบให้ดี ชุ่ย ฯลฯ 

แบบนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับจะเพิ่มปัญหา อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใส่กัน 

วิธีที่ถูกต้องก็คือ ลงมือแก้ปัญหา ด้วยการบอกกล่าวถึงจุดที่ผิดพลาด และบอกข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้รู้กันแพร่หลายออกไป 

ข้อผิดพลาดแบบนี้น่าจะยังมีอยู่อีก และอาจจะมีอีกมากด้วย 

ผมเคยเสนอแนะไปที่มหามกุฏราชวิทยาลัยให้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม มาตรวจชำระสะสางกันใหม่ 

แต่ผู้บริหารท่านก็ยังนิ่งๆ อยู่ ไม่ทราบว่าจนถึงวันนี้ได้มีการขยับตัวทำอะไรไปบ้างแล้วหรือยัง

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่มเป็นชุดที่ดีมากๆ อ่านง่าย เพราะมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าชำระสะสางให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นจะเป็นอุปการะแก่การศึกษาพระธรรมวินัยของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง 

แต่ในขณะที่ยังไม่มีใครคิดจะทำอะไรให้มันดีขึ้น (ซึ่งเป็นอาการปกติทั่วไปของสังคมพระศาสนา) สิ่งหนึ่งที่นักเรียนบาลีสามารถทำได้ก็คือ-ช่วยกันอัญเชิญพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกมาศึกษา 

อย่างที่ผมกำลังทำอยู่ทุกวันนี้-ขอประทานโทษที่กล่าวถึงตัวเองเป็นตัวอย่าง

ผมแค่จะสื่อว่า-ผมเป็นคนแก่คนหนึ่งที่โชคดีได้เรียนบาลี พอจะจับๆ คลำๆ ได้บ้างตามสติปัญญาอันน้อย 

ยังมีคนหนุ่ม (และคนสาว) อีกเป็นอันมากที่เรียนบาลี จบบาลี ท่านเหล่านั้นยังแคล่วคล่องว่องไว กระฉับกระเฉง ปราดเปรียวกว่าผมหลายเท่า 

ถ้าท่านเหล่านั้น-ทั้งที่ยังทรงสมณเพศอยู่ หรือแม้จะลาเพศไปแล้วก็ตาม-จะมีแก่ใจ มีอุตสาหะ เห็นแก่พระศาสนา บริหารเวลา วางแผนชีวิต อุทิศเวลาส่วนหนึ่งให้แก่การศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ เจาะไปที่ผลงานที่บูรพาจารย์ท่านทำไว้แล้วนั่นแหละ ช่วยกันศึกษา ช่วยกันตรวจสอบ พบเห็นอะไรตรงไหมีพิรุธ ช่วยกันแก้ไขให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้น ทำไว้ สะสมไว้ แล้วเผยแพร่เป็นบริการทางวิชาการให้แก่สังคม ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก

ท่านจะสามารถทำงานเช่นนี้ได้ดีกว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า ก้าวหน้ากว่าที่ผมงมทำอยู่คนเดียวนี้เป็นหลายร้อยหลายพันเท่า

เราเรียนบาลี จบบาลี เรามาถูกทางแล้วขอรับ 

เพียงแต่เรายังไปไม่สุดทาง 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ เมษายน ๒๕๖๓

๑๘:๔๙

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *