ประวัติย่อหมอชีวก
แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๕)
แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๕)
————————————
อย่ารอให้ป่วยแล้วจึงจะช่วยกันคิด
………..
เรื่องที่ ๙
………..
ญาติมิตรที่ไม่มีอารมณ์ร่วมหรือไม่รู้สึกอร่อยในการอ่านบทความชุด “แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน” ที่ผมกำลังนำเสนออยู่นี้ ขอเชิญปลีกตัวได้ตามอัธยาศัยนะครับ
ผมตั้งใจเขียนเพื่อนักเรียนบาลี-โดยเฉพาะนักเรียนบาลีที่เรียนจบแล้ว แต่ที่ยังเรียนไม่จบก็อยากให้สนใจด้วยนะครับ เราศึกษาไปพร้อมๆ กันได้
……………
แง่มุมที่จะว่าต่อไปนี้เกิดจากความสงสัยของผมเอง
คือพอศึกษามาถึงชื่อ “มัททกุจฉิมิคทายวัน” ที่อรรถกถาท่านเล่าว่า-ได้ชื่อนี้มาจากกรณีพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารทรงแอบมา “ทำแท้ง” ที่นั่น (แต่ไม่สำเร็จ) ก็เลยสงสัยว่า ตอนที่เกิดเหตุเรื่องนี้ บนยอดเขาคิชฌกูฏมีพระคันธกุฎีของพระพุทธองค์แล้วหรือยัง?
หรือถามใหม่ว่า ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จมาทรงประกาศพระศาสนาที่แคว้นมคธเป็นแห่งแรก อชาตศัตรูราชกุมารประสูติแล้วหรือยัง?
ขอให้ตั้งหลักกันที่-ทางขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร (ข้อมูลจากสารคดีฯ)
ภาพที่ผมคิดตามความเข้าใจเอาเองก็คือ ขีดเส้นตรงเส้นหนึ่งขนานกับพื้นโลก – นี่คือพื้นราบ
แล้ววงกลมจุดจุดหนึ่งที่พื้นราบ ลากเส้นจากจุดนี้ขนานไปกับเส้นพื้นราบเส้นแรก แต่ให้ค่อยๆ สูงจากพื้นราบขึ้นไปทีละน้อย สมมุติให้เส้นนี้ยาว ๒ กิโลเมตร ไปสิ้นสุดและสูงสุดที่ยอดเขาคิชฌกูฏ – นี่คือถนนขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ
ถามว่า “มาตะกุจฉิ” (มัททกุจฉิ) อยู่ในช่วงไหนของความสูงจากพื้นราบ?
หรือถามใหม่ “มาตะกุจฉิ” อยู่ที่พื้นราบ หรืออยู่ที่เชิงลาดของเขาคิชฌกูฏ?
ตามความเข้าใจของผม “มัททกุจฉิมิคทายวัน” ควรจะเป็นสถานที่ซึ่งอยู่บนพื้นราบ
คำว่า “มิคทาย” ที่เป็นสร้อยนาม (แต่ในภาษาบาลีถือว่าเป็นคำนามหลัก) แปลว่า “สวนกวาง” คือเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งย่อมจะต้องมีบริเวณกว้างขวางพอที่หมู่เนื้อคือเก้งกวางจะอาศัยอยู่ได้อย่างสบาย
แต่ในสารคดีชุดอริยทัศน์ อินเดีย บอกว่า “มัททกุจฉิมิคทายวัน” (ซึ่งในสารคดีออกชื่อว่า “มาตะกุจฉิ”) อยู่ระหว่างทางที่ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ
ตรงนี้ก็ต้องไปศึกษาภูมิประเทศกันอีกว่า ถนนขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏมีบริเวณที่เป็นพื้นราบขนาดใหญ่อยู่ตรงไหนบ้างหรือไม่-ที่พอจะเป็น “มิคทาย” ได้?
ข้อสงสัยของผมก็คือ ถ้าตอนนั้นมีพระคันธกุฎีอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏแล้ว ทางขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏก็ต้องมีแล้ว และบริเวณที่เป็น “มาตะกุจฉิ” อยู่ในทุกวันนี้ก็ต้องอยู่ในทางผ่าน
เป็นไปได้หรือที่คนเราจะมาแอบทำการลับในบริเวณที่เป็นทางผ่าน?
แต่ถ้าเวลานั้นยอดเขาคิชฌกูฏยังไม่มีพระคันธกุฎี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง-ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จมาทรงประกาศพระศาสนาที่แคว้นมคธ อชาตศัตรูราชกุมารยังไม่ได้ประสูติ และบริเวณเขาคิชฌกูฏเป็นที่สงบสงัด ยังไม่ได้มีผู้คนเข้าไปทำอะไรกัน
ถ้าอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ว่าพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารจะเลือกเอาบริเวณเชิงลาดตอนใดตอนหนึ่งของเขาคิชฌกูฏเป็นที่ “ทำแท้ง” – แต่นั่นก็ต้องหมายความว่า เขาคิชฌกูฏมีบริเวณเชิงลาดตอนใดตอนหนึ่งที่เป็นพื้นที่กว้างขวางพอที่จะเป็น “มิคทาย” ได้ด้วย
ข้อความในพระไตรปิฎก (สังฆเภทขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ๓๗๒) บอกว่า –
……………….
“เตน โข ปน สมเยน ภควา คิชฺฌกูฏสฺส ปพฺพตสฺส ฉายายํ จงฺกมติ.”
สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ที่ร่มเงาของภูเขาคิชฌกูฏ
……………….
ที่จะต้องคำนึงถึงต่อไปก็คือ พระเทวทัตกลิ้งหินตรงจุดไหนของเขาคิชฌกูฏ และจุดที่พระพุทธองค์ทรง “จงฺกมติ” (จงกรม) อยู่นั้นเป็นพื้นราบ (คือพื้นดินข้างล่าง) หรือว่าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งบนภูเขา
เมื่อพระเทวทัตกลิ้งหินแล้ว พระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บ คัมภีร์แสดงเรื่องราวว่า ภิกษุพาพระพุทธองค์ไปที่มัททกุจฉิก่อน ต่อจากนั้นจึงไปที่ชีวกัมพวัน
……………….
ภิกฺขู จินฺตยึสุ อยํ วิหาโร อุชฺชงฺคโล วิสโม พหุนฺนํ ขตฺติยาทีนญฺเจว ปพฺพชิตานญฺจ อโนกาโสติ. เต ตถาคตํ มญฺจสิวิกาย อาทาย มทฺทกุจฺฉึ นยึสุ. (สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๘ อธิบายสกลิกสูตรในสังยุตนิกาย สคาถวรรค สกลิกสูตรเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยพระบาทของพระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บ)
พวกภิกษุคิดว่า วิหารนี้เป็นที่ไม่สะดวก* ไม่เรียบ ไม่เหมาะแก่คนจำนวนมากมีกษัตริย์เป็นต้นและบรรพชิตทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นจึงช่วยกันหามพระตถาคตด้วยแคร่นอนนำไปสู่สวนชื่อว่ามัททกุจฉิ
(*อุชฺชงฺคล hard, barren soil)
……………….
อรรถกถาใช้คำว่า “อยํ วิหาโร” แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่พักหรือใกล้กับสถานที่พัก ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ใกล้ๆ กับพระคันธกุฎีบนยอดเขานั่นเอง
พวกภิกษุนำพระพุทธองค์ไปที่มัททกุจฉิ แสดงว่ามัททกุจฉิน่าจะอยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ และมีบริเวณกว้างขวางกว่าที่พระคันธกุฎี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า ถนนจากพื้นราบขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏผ่านมาตะกุจฉิ
นั่นก็คือ-จากจุดที่เกิดเหตุ สถานที่ใกล้ที่สุดที่จะพาพระพุทธองค์ไปพัก (พาลงจากเขา) ก็คือมัททกุจฉิ
และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แปลว่า ทั้งสถานที่เกิดเหตุและมัททกุจฉิ (มาตะกุจฉิ) ไม่ได้อยู่ที่พื้นราบ หากแต่อยู่ที่เชิงลาดของเขาคิชฌกูฏ
พูดชัดๆ –
พระเทวทัตอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ
พระพุทธองค์ก็อยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ
เหตุเกิดบนยอดเขาคิชฌกูฏ
เกิดเหตุแล้วภิกษุจึงพาพระพุทธองค์ลงจากเขาคิชฌกูฏ
แล้วแวะพักที่มัททกุจฉิ
วันรุ่งขึ้นจึงออกจากมัททกุจฉิ
ลงจากเชิงลาดต่อไปจนถึงพื้นราบ
แล้วจึงไปยังชีวกัมพวัน
ภาพในจินตนาการที่เรานึกกันว่า พระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ที่พื้นราบ คือที่แผ่นดินเชิงเขาคิชฌกูฏ พระเทวทัตขึ้นไปบนยอดเขาแล้วกลิ้งหินจากยอดเขาเป็นแนวดิ่งลงมายังพื้นดินพื้นราบ – ภาพนี้ก็ต้องลบทิ้งไป
เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดบนเขา
นั่นคือ ถ้าเราอยู่ที่พื้นราบและต้องการจะไปยังที่เกิดเหตุ เราจะต้องเดินจากพื้นราบขึ้นไปตามถนน (ที่ว่ายาว ๒ กิโลเมตร) เดินขึ้นไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็จะผ่านมัททกุจฉิ (ซึ่งอยู่บนเชิงลาดเขาคิชฌกูฏ ไม่ได้อยู่ที่พื้นราบข้างล่าง?) ต่อจากมัททกุจฉิก็เดินขึ้นไปอีก จนเกือบถึงยอดเขาที่มีพระคันธกุฎี จึงจะถึงที่เกิดเหตุ
……………
คราวนี้ก็มาถึงชีวกัมพวัน-สวนมะม่วงของหมอชีวก อยู่ตรงไหน?
บางท่านที่ไปแสวงบุญที่อินเดียแสดงข้อมูลว่า ชีวกัมพวันอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ
ในอรรถกถาสามัญผลสูตรมีข้อมูลว่า ชีวกัมพวันตั้งอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับเขาคิชฌกูฏ (ชีวกสฺส อมฺพวนํ ปาการสฺส จ คิชฺฌกูฏฺสฺส จ อนฺตรา โหติ. – สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๒๓)
แต่ไม่ได้อยู่ใกล้กันแบบ-ออกจากประตูเมืองก็ถึงชีวกัมพวันเลย เพราะในสามัญผลสูตรและอรรถกถาบรรยายขบวนเสด็จของพระเจ้าอชาตศัตรูที่ไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ชีวกัมพวันไว้อย่างมโหฬาร ชนิดที่-ออกจากเมืองแล้วก็ต้องเคลื่อนขบวนกันไปไกลพอสมควร
………
อรรถกถาสามัญผลสูตร (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๙๙) มีข้อความที่เป็นความคิดของหมอชีวกว่า –
……………….
มยา ทิวสสฺส ทฺวิตฺติกฺขตฺตุํ พุทฺธุปฏฺฐานํ คนฺตพฺพํ อิทญฺจ คิชฺฌกูฏํ เวฬุวนํ อติทูเร มยฺหมฺปน อุยฺยานํ อมฺพวนํ อาสนฺนตรํ ยนฺนูนาหํ เอตฺถ ภควโต วิหารํ กาเรยฺยนฺติ.
เราควรจะไปเฝ้าดูแลพระพุทธองค์วันละ ๒-๓ ครั้ง เขาคิชฌกูฏและพระวิหารเวฬุวันอยู่ไกลนัก แต่สวนอัมพวันของเราใกล้กว่า อย่ากระนั้นเลยเราจะสร้างวิหารถวายแด่พระผู้มีพระภาคในสวนอัมพวันของเรานี้
……………….
ก็ถ้า “เขาคิชฌกูฏ…อยู่ไกลนัก” (ตามข้อมูลในอรรถกถา) และ “ชีวกัมพวันอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ” (ตามข้อมูลของนักแสวงบุญ) จากบ้านหมอชีวก – ชีวกัมพวันและเขาคิชฌกูฏก็ไกลพอๆ กันนั่นเอง
แต่เหตุผลที่หมอชีวกสร้างวัดในอัมพวันของตนก็เพราะประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ได้สะดวก เพราะ “อัมพวันของเราใกล้กว่า” (ตามข้อมูลในอรรถกถา)
ก็แสดงว่าชีวกัมพวันไม่ได้อยู่ที่เชิงเขาคิชฌกูฏ
ตามข้อมูลในอรรถกถาที่ว่า “ชีวกัมพวันตั้งอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับเขาคิชฌกูฏ” หมายความว่า ออกจากเมืองจะไปเขาคิชฌกูฏต้องผ่านชีวกัมพวันก่อน เพราะชีวกัมพวันอยู่ใกล้ว่า (“อัมพวันของเราใกล้กว่า”)
แต่ข้อมูลที่ว่า “ชีวกัมพวันอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ” ก็ยังไม่ควรจะมองข้าม-ถ้าตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมา
นั่นคือตั้งทฤษฎีว่า – ความคิดของหมอชีวกที่ว่า ไปเฝ้าพระพุทธองค์วันละ ๒-๓ ครั้งไม่สะดวกเพราะ “เขาคิชฌกูฏ…อยู่ไกลนัก” นั้น หมายความว่า จะต้องเดินจากเชิงเขาคิชฌกูฏขึ้นไปถึงยอดเขา (ระยะทาง ๒ กิโลเมตร) จึงจะเฝ้าพระพุทธองค์ได้ เพราะพระคันธกุฎีที่ประทับอยู่บนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสร้างที่ประทับไว้ที่เชิงเขา เวลาจะไปเฝ้า ออกจากบ้านมาแค่เชิงเขาก็ได้เฝ้าแล้ว ไม่ต้องเดินขึ้นไปถึงยอดเขา
ถ้าเหตุผลเป็นดังนี้ “ชีวกัมพวันอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ” ก็ฟังขึ้น
แต่ก็มีข้อแย้งได้อีกว่า ถ้าเหตุผลเป็นดังนี้ ทำไมหมอชีวกไม่ระบุลงไปให้ชัดๆ ว่า “พระคันธกุฎีอยู่ไกลนัก” แต่กลับคิดคลุมๆ ไปว่า “เขาคิชฌกูฏ…อยู่ไกลนัก” … ทำไม?
……………….
ความจริงเรื่องทั้งหมดนี้จะง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุด ถ้ายืนยันได้ว่า –
(๑) จุดเกิดเหตุที่พระเทวทัตกลิ้งหินอยู่ตรงไหน
(๒) มัททกุจฉิ (มาตะกิจฉิ) อยู่ตรงไหน
(๓) ชีวกัมพวันอยู่ตรงไหน
จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้เรียนบาลี-เรียนพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาช่วยกันศึกษา แล้วผู้สันทัดภูมิประเทศของอินเดีย-เช่นผู้แสวงบุญที่นิยมไปไหว้พระ ตลอดจนผู้จัดบริการนำเที่ยว เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันให้ข้อมูล เราก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ “ภูมิศาสตร์ในพุทธประวัติ” ขึ้นอีกเป็นอันมาก
เวลาศึกษาพุทธประวัติตามคัมภีร์ ก็จะมองภาพออกว่าอะไรอยู่ตรงไหน ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะที่แจ่มชัด เป็นทางเจริญปัญญา
ใครยังไม่สามารถจะไปถึงสถานที่จริงได้ แม้เพียงศึกษาจากข้อมูลที่เราช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น ก็ยังได้ความรู้ความเข้าใจ ได้ความปีติตามควรแก่วิสัย
ใครสามารถไปถึงสถานที่จริงได้ ก็จะยิ่งได้ปีติโสมนัสอันประกอบด้วยปัญญา เป็นทางให้เกิดมหากุศลอื่นๆ ต่อไปอีกเป็นอเนกอนันต์
เห็นประโยชน์แห่งการเรียนบาลีแล้วศึกษาพระคัมภีร์ และประโยชน์แห่งการร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นมหากุศล-มั่งหรือยังขอรับ?
หรือจะรอให้ป่วยด้วยโรคโควิด-๑๙ เสียก่อนจึงจะคิดได้?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ เมษายน ๒๕๖๓
๑๖:๕๙
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก
…………………………….