บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

นาคาวโลก

นาคาวโลก

————

ผมกำลังสืบค้นเรื่องของหมอชีวกโกมารภัจที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาฎีกาต่างๆ การศึกษาสืบค้นนี้ทำให้ต้องพาดพิงไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่พัวพันหรือผูกพันอยู่ในประวัติหมอชีวก 

สถานที่ที่ผมติดใจอย่างมากก็คือ ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมิคทายวัน แล้วก็เกี่ยวพันไปถึงสถานที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหินหมายปลงพระชนม์พระพุทธองค์ อยู่ตรงไหนของเขาคิชฌกูฏ

โดยเฉพาะชื่อสถานที่ “มัททกุจฉิมิคทายวัน” ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของพระเทวทัต พวกภิกษุได้พาพระองค์มาพักที่นี่ก่อนที่จะพาต่อไปยังชีวกัมพวัน ผมสงสัยว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ของเมืองราชคฤห์ 

เคยเขียนขอแรงไปยังญาติมิตร – โดยเฉพาะญาติมิตรที่มีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ของอินเดีย ท่านที่นิยมไปแสวงบุญที่อินเดีย หลายท่านบอกว่าไปมาแล้วหลายเที่ยว แล้วก็ท่านที่เรียนบาลี ให้ช่วยกันค้นหน่อย 

ก็-อย่างว่า อัธยาศัย ความชอบ ของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน จะเกณฑ์ให้ท่านเหล่านั้นสนใจเหมือนผมก็คงไม่ได้ อันนี้ไม่ว่ากันอยู่แล้ว ผมก็ต้องงมเอาเองต่อไป

เช่น-ตั้งหลักที่ “มัททกุจฉิมิคทายวัน” เป็น ๑ ในสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงทำ “นิมิตโอภาส” ให้พระอานนท์เกี่ยวกับอานิสงส์ของอิทธิบาทธรรม เพื่อให้พระอานนท์ทูลอาราธนาให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ “ตลอดกัป” ในพระไตรปิฎกระบุชื่อสถานที่พวกนี้ไว้เป็นอันมาก

ค้นไปๆ ก็เลยไปถึงเหตุการณ์ในพรรษาสุดท้ายที่ทรงจำพรรษาที่เขตเมืองเวสาลี ซึ่งมีสถานที่ที่ทรงทำนิมิตโอภาสหลายแห่ง

พระไตรปิฎกบันทึกว่า เมื่อเสด็จออกจากเมืองเวสาลีมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “นาคาวโลก” เกิดขึ้น 

ตามไปดูในอรรถกถา ก็เจอคำอธิบายที่น่าสนใจ

เป็นที่มาของเรื่อง “นาคาวโลก” ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง

ตามเรื่องที่อรรถกถาอธิบาย ท่านว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จออกจากประตูเมืองเวสาลี ทรงมีพุทธประสงค์จะทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นปัจฉิมทัศนาการ-คือดูเป็นครั้งสุดท้าย 

ทันใดนั้นพื้นปฐพีที่ทรงยืนอยู่ก็กระทำอาการดุจแป้นของช่างหม้อ คือหมุนเป็นวงกลม

หมายความว่า พระพุทธองค์ไม่ต้องทรงหันพระองค์กลับมามอง แต่แผ่นดินที่ทรงเหยียบยืนอยู่หมุนกลับมาทำให้องค์ของพระพุทธเจ้าหันกลับมาทางประตูเมืองเวสาลีทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเมืองเวสาลีได้ดังพุทธประสงค์ 

เหตุการณ์นี้พระไตรปิฎกเรียกว่า “นาคาวโลกิต” ซึ่งภาษาไทยเอามาเรียกว่า “นาคาวโลก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 อธิบายความหมายของคำว่า “นาคาวโลก” ไว้ดังนี้ – 

………………..

นาคาวโลก  [-คาวะ-] น. ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยเยื้องมาข้างหน้าประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปรกติ เอี้ยวพระกายผินพระพักตร์ไปทางซ้าย (เป็นกิริยาทอดพระเนตรพระนครไพศาลีอย่างไว้อาลัย ด้วยจะเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย).

………………..

ขอเรียนให้ทราบว่า คำอธิบายของพจนานุกรมฯ นี้น่าจะคลาดเคลื่อนจากคำอธิบายของอรรถกถา 

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ ซึ่งอธิบายมหาปรินิพพานสูตร ในหน้า ๒๗๔ บรรยายเรื่อง “นาคาวโลกิต” ไว้ว่า 

………………..

พุทฺธานํ  ปน  สุวณฺณกฺขนฺธํ วิย  เอกาพทฺธานิ  หุตฺวา  ฐิตานิ.  ตสฺมา  ปจฺฉโต  อปโลกนกาเล  น  สกฺกา  โหติ  คีวํ  ปริวตฺเตตุํ.  ยถา  ปน  หตฺถินาโค  ปจฺฉาภาคํ  อปโลเกตุกาโม  สกลสรีเรเนว  ปริวตฺตติ. เอวํ  ปริวตฺเตตพฺพํ  โหติ. 

พระอัฐิ (คือกระดูก) ของพระพุทธเจ้าติดเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนแท่งทองคำ เพราะฉะนั้น ในเวลาเหลียวหลัง จึงไม่สามารถเอี้ยวพระศอได้ อันว่าพญาช้างประสงค์จะเหลียวดูข้างหลังต้องหันกลับไปทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ต้องทรงหันพระวรกายไปทั้งพระองค์ฉันนั้น

………………..

คนธรรมดาเวลาจะดูอะไรที่อยู่ด้านหลัง ยืนอยู่กับที่ ลำตัวท่อนล่างอยู่ในทิศทางเดิม ลำตัวท่อนบนอาจเอี้ยวไปเล็กน้อย เอี้ยวคอหันไปด้านข้างให้สุดก็สามารถมองเห็นด้านหลังได้ 

แต่พระพุทธองค์ทรงทำเช่นนั้นไม่ได้ เหตุผลตามคำของอรรถกถาก็คือ “พระอัฐิของพระพุทธเจ้าติดเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนแท่งทองคำ” 

คือถ้าจะหัน ต้องหันหมดทั้งพระองค์ แบบเดียวกับช้าง 

ช้างมันหันเฉพาะคอกลับมาดูข้างหลังไม่ได้ ต้องหันหมดทั้งตัวฉันใด พระพุทธองค์จะทอดพระเนตรด้านหลัง ก็ต้องหันกลับมาทั้งพระองค์ฉันนั้น

และนี่เองคือเหตุผลที่เรียกว่า “นาคาวโลก” ซึ่งแปลว่า “เหลียวมองอย่างช้าง” 

คือไม่ใช่เอี้ยวตัวมอง แต่ต้องหันทั้งตัวไปมอง-แบบกลับหลังหัน

อรรถกถาอธิบายต่อไปว่า เมืองอื่นๆ ที่พระพุทธองค์เสด็จผ่านในพรรษาสุดท้าย พระองค์ก็ทอดพระเนตรเป็นปัจฉิมทัศนาการ-คือดูเป็นครั้งสุดท้ายทุกเมือง แต่ไม่ยกขึ้นมาเรียกว่า “นาคาวโลก” เป็นพิเศษ เพราะทรงหมุนพระองค์ไปด้วยพระองค์เอง

แต่เฉพาะที่เมืองเวสาลีเกิดกรณีพิเศษ คือพระพุทธองค์ประทับยืนอยู่กับที่ ไม่ต้องหมุนพระองค์กลับ เพราะพื้นดินตรงที่ทรงยืนอยู่ได้หมุนเป็นวงทำให้พระวรกายทั้งพระองค์หันกลับมาทอดพระเนตรเมืองเวสาลีได้โดยที่ทรงยืนอยู่ในท่าเดิม

เพราะเช่นนี้แหละจึงถือเป็นกรณีพิเศษ ยกขึ้นมาเรียกว่า “นาคาวโลก

อรรถกถาอธิบายต่อไปว่า ทั้งนี้เป็นเพราะทรงมีพุทธประสงค์จะให้ชาวเมืองเวสาลีจดจำเหตุการณ์นี้ไว้เป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะทรงเห็นอนาคตภัยของเมือง

“อนาคตภัย” ที่ว่านี้โยงไปถึงกรณีพระเจ้าอชาตศัตรูมีแผนการจะโจมตียึดครองแคว้นวัชชี (เวสาลีเป็นเมืองหลวงของวัชชี) แต่โจมตีกี่ครั้งก็ไม่สำเร็จ เพราะชาววัชชีดำรงอยู่ในหลักธรรมที่เรียกว่า “วัชชีอปริหานิยธรรม” หรือหลักสามัคคีธรรม 

พระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ไปทูลถามพระพุทธองค์ 

พระพุทธองค์ไม่ตรัสเรื่องทำศึกสงคราม แต่ตรัสว่า ชาววัชชียังดำรงอยู่ในหลักวัชชีอปริหานิยธรรมอยู่ตราบใด ก็จะยังรักษาบ้านเมืองไว้ได้อยู่ตราบนั้น

วัสสการพราหมณ์จึงทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ใช้อุบายทำลายสามัคคีธรรมโดยตนเองรับอาสาไปเป็นไส้ศึก 

แผนการนี้ใช้เวลา ๓ ปีจึงสำเร็จ 

พระพุทธองค์ทรงเห็น “อนาคตภัย” ดังว่านี้ และทรงเห็นว่า ภายใน ๓ ปี ชาววัชชีน่าจะมีเวลาพอที่จะบำเพ็ญบุญกุศลทำที่พึ่งแห่งตนตามแนวทางแห่งธรรมะได้ทัน จึงทรงกระทำให้เกิดกรณี “นาคาวโลก” เพื่อให้ชาววัชชีเห็นเป็นอัศจรรย์ 

ชาววัชชีก็เห็นเป็นอัศจรรย์จริงๆ ด้วย จึงได้สร้างเจดีย์ชื่อ “นาคาวโลก” ขึ้นไว้ตรงที่เกิดเหตุการณ์หน้าประตูเมือง แล้วชวนกันสักการบูชาพระเจดีย์ทั้งด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา เป็นการเก็บบุญเป็นทุนชีวิตในภายหน้าโดยทั่วกัน 

๓ ปีหลังพุทธปรินิพพาน ก็ถึงกาลอวสานของเวสาลีด้วยน้ำมือของพระเจ้าอชาตศัตรูตามแผนของวัสสการพราหมณ์ 

แต่ชาววัชชีที่หมั่นบำเพ็ญบุญมาตลอด ๓ ปี โดยอาศัยเจดีย์ “นาคาวโลก” เป็นสื่อจูงใจ ก็น่าจะได้สร้างที่พึ่งแห่งตนได้สำเร็จแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย 

พระมหากรุณาอันมิรู้เสื่อมหาย ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อความสวัสดีแห่งชาวโลกได้ ทั้งๆ ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

พุทฺธํ วรนฺตํ สิรสา นมามิ. 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ เมษายน ๒๕๖๓

๑๙:๕๒

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *