บาลีวันละคำ

ขาดประเคน (บาลีวันละคำ 2,276)

ขาดประเคน

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “ประเคน” แปลเป็นบาลีได้ 2 นัย คือ –

(1) “ประเคน” (ถวายสิ่งของให้พระ)

(ก) ถ้าเป็นอาการนาม ใช้คำบาลีได้ 2 คำ คือ (๑) “อภิหาร” (๒) “ภิกฺขูนํ  หตฺเถ  สุปติฏฺฐปน” (หรือรวบศัพท์เข้าด้วยกันเป็น “ภิกฺขุหตฺถสุปติฏฺฐปน”)

(ข) ถ้าเป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) ใช้คำบาลีว่า (๑) “อภิหรติ” (๒) “ภิกฺขูนํ  หตฺเถ  สุปติฏฺฐเปติ

(2) “รับประเคน” (พระรับสิ่งของ)

(ก) ถ้าเป็นอาการนาม ใช้คำบาลีว่า “ปฏิคฺคหณ

(ข) ถ้าเป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) ใช้คำบาลีว่า “ปฏิคฺคณฺหาติ

ดูเพิ่มเติม: “ประเคน” บาลีวันละคำ (2,275) 4-9-61

คำว่า “ขาดประเคน” หมายความว่า มีการประเคนและรับประเคนเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดเหตุทำให้การรับประเคนกลายเป็นโมฆะ ของที่รับประเคนไว้แล้วเป็นเหมือนของที่ยังไม่ได้ประเคน

คำว่า “ขาดประเคน” คำบาลีพูดเป็นประโยคว่า –

ปฏิคฺคหณํ วิชหติ” (กริยาเอกพจน์: ของที่ขาดประเคนมีอย่างเดียว) หรือ —

ปฏิคฺคหณํ วิชหนฺติ” (กริยาพหูพจน์: ของที่ขาดประเคนมีหลายอย่าง)

แปลตามศัพท์ว่า “(ของสิ่งนั้น) ย่อมละการรับประเคนไปเสีย” หมายถึง ของที่รับประเคนไว้แล้วกลับไปสู่สถานะเดิมคือเป็นของที่ยังไม่ได้ประเคน

วิชหติ” (เอกพจน์) และ “วิชหนฺติ” (พหูพจน์) แปลว่า “ย่อมละไป” หมายถึง ละทิ้ง, สละ, ปล่อย, เลิกละ, ไล่ออก (to abandon, forsake, leave; to give up, dismiss)

ขยายความ :

อรรถกถาพระวินัย คือคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อธิบายความในคัมภีร์มหาวิภังค์ตอนปฐมปาราชิก แสดงเหตุที่ทำให้ “ขาดประเคน” ไว้ 7 อย่าง คือ –

(1) ลิงฺคปริวตฺเตน = เพราะผู้รับประเคนกลายเพศ เช่นตอนรับประเคนเป็นภิกษุ แล้วต่อมาเพศกลายเป็นภิกษุณี (การกลายเพศเช่นนี้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์)

(2) กาลกิริยาย = เพราะผู้รับประเคนมรณภาพ

(3) สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน = เพราะผู้รับประเคนลาสิกขา

(4) หีนายาวตฺตเนน = เพราะผู้รับประเคนประพฤติผิดจนขาดจากความเป็นภิกษุ

(5) อนุปสมฺปนฺนสฺส  ทาเนน = เพราะผู้รับประเคนให้ของสิ่งนั้นแก่อนุปสัมบัน (คือผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุ)

(6) อนเปกฺขวิสฺสชฺชเนน = เพราะผู้รับประเคนทอดธุระไม่มีเยื่อใยกับของสิ่งนั้น

(7) อจฺฉินฺทิตฺวา  คาเหน = เพราะของสิ่งนั้นถูกฉกฉวยเอาไป

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 1 หน้า 401

ถ้ามีเหตุทั้ง 7 อย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ของที่รับประเคนไว้แล้วนั้นคืนสภาพกลับไปเป็นของที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุจะบริโภคใช้สอยมิได้ เว้นไว้แต่ได้รับประเคนใหม่

อภิปราย :

มีปัญหาว่า พระรับประเคนภัตตาหารแล้ว ญาติโยมไปหยิบจับแตะต้องภาชนะภัตตาหารนั้น และมีคำแนะนำให้ประเคนใหม่เพราะเข้าใจว่าภัตตาหารนั้น “ขาดประเคน”

กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการ “ขาดประเคน” หรือไม่?

เหตุแห่งการขาดประเคนทั้ง 7 ข้อไม่มีเหตุเช่นนี้ตรงๆ

แต่ข้อ (7) อจฺฉินฺทิตฺวา  คาเหน = เพราะของสิ่งนั้นถูกฉกฉวยเอาไป – อาจตีความให้เข้ากับกรณีเช่นนี้ได้

คาเหน” (คา-เห-นะ) รูปคำเดิมคือ “คาห” (คา-หะ) แปลว่า การยึด, การถือ, การจับ (seizing, seizure, grip)

อจฺฉินฺทิตฺวา” เป็นคำกริยา แปลว่า นำออกด้วยกำลัง, เอาไป, แย่งชิง, ปล้น (to remove forcibly, to take away, rob, plunder)

อจฺฉินฺทิตฺวา  คาเหน” อาจตีความว่า เป็นการหยิบจับโดยพลการหรือโดยไม่ได้รับอนุญาต

ถ้าตีความตามนัยนี้ อาหารที่พระรับประเคนแล้ว ญาติโยมไปหยิบจับเข้า ก็เข้าเกณฑ์ “ขาดประเคน” โดยอนุโลม

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ของขาดประเคน ยังมีเกณฑ์ให้ประเคนใหม่

: พระเณรขาดพระธรรมวินัย จะมีใครมาคอยประเคน?

#บาลีวันละคำ (2,276)

5-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *