บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

หมอเจ้าเล่ห์

หมอเจ้าเล่ห์

————

เมื่อได้เป็นแพทย์หลวงและแพทย์ประจำคณะสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หมอชีวกก็เริ่มมีชื่อเสียง ประชาชนนับถือและเชื่อถือในฝีมือการรักษาพยาบาล งานก็มีมากขึ้น 

นี่เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่พิสูจน์ฝีมือหมอมือดีสมัยพุทธกาลผู้นี้

เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก

อนึ่ง เศรษฐีนั้น (เมื่อลงมือรักษาไปได้พักหนึ่ง) ก็ถูกแพทย์ทั้งหลายบอกเลิกรักษา แพทย์บางพวกได้ทำนายไว้อย่างนี้ว่า – 

“เศรษฐีนี้จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕”

บางพวกทำนายว่า “จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗”

ครั้งนั้นพวกคนร่ำรวยชาวพระนครราชคฤห์(*) ได้มีความปริวิตกว่า –

“เศรษฐีผู้นี้แลมีอุปการะมากแก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวเมือง แต่ท่านถูกแพทย์ทั้งหลายบอกเลิกรักษาเสียแล้ว แพทย์บางพวกทำนายว่า ‘เศรษฐีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕’ บางพวกทำนายว่า ‘จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗’

“ก็หมอชีวกเป็นแพทย์หลวงที่หนุ่ม ทรงคุณวุฒิ ถ้ากระไรพวกเราพึงทูลขอหมอชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัวเพื่อจะให้รักษาเศรษฐีดูเถิด”

ครั้งนั้น พวกคนร่ำรวยชาวพระนครราชคฤห์จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช กราบบังคมทูลว่า

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เศรษฐีผู้นี้มีอุปการะมากแก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและชาวเมือง แต่ท่านถูกแพทย์ทั้งหลายบอกเลิกรักษาเสียแล้ว แพทย์บางพวกทำนายว่า ‘เศรษฐีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕’ บางพวกทำนายว่า ‘จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗’

“ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมีพระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ชีวกให้รักษาเศรษฐีเถิด”

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชดำรัสสั่งหมอชีวกว่า

“พ่อชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐี”

หมอชีวกทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า “รับด้วยเกล้าพระพุทธเจ้าข้า”

ครั้นแล้วก็ไปหาเศรษฐี ตรวจดูอาการป่วยของเศรษฐีแล้วได้ถามเศรษฐีว่า

“ท่านคหบดี ถ้าฉันรักษาท่านหายโรค จะมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง?”

“ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน”

“ท่านคหบดี ท่านอาจนอนตะแคงข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม?”

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ท่านอาจนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้ไหม?”

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม?”

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้”

ครั้งนั้น หมอชีวกให้เศรษฐีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียง ถลกหนังศีรษะ เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ(**) นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชนว่า

“ท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง พวกอาจารย์ที่ทำนายไว้ว่า เศรษฐีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐี ในวันที่ ๕ เศรษฐีถูกมันเจาะกินสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวใหญ่นี้ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว

“ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนายไว้ว่า เศรษฐีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐี ในวันที่ ๗ เศรษฐีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวเล็กนี้ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว”

กล่าวดังนี้แล้ว ก็ปิดแนวประสานกะโหลกศีรษะ เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล

เวลาล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง 

เศรษฐีได้กล่าวอุทธรณ์ต่อหมอชีวกว่า

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ‘ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้’ ดังนี้ มิใช่หรือ?”

“ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้นท่านจงนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนเถิด”

เวลาล่วงไปอีกสัปดาห์หนึ่ง 

เศรษฐีได้กล่าวอุทธรณ์ต่อหมอชีวกอีกว่า

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ‘ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้’ ดังนี้ มิใช่หรือ?”

“ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้นท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด”

เวลาล่วงไปอีกสัปดาห์หนึ่ง 

เศรษฐีได้กล่าวอุทธรณ์ต่อหมอชีวกว่า

“ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ‘ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้’ ดังนี้ มิใช่หรือ?”

“ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้”

“ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนเท่านั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อนแล้วว่าท่านจักหายโรคได้ภายในสามสัปดาห์เท่านั้น ลุกขึ้นเถิด ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้เถิดว่าจะให้รางวัลอะไรแก่ฉัน”

“ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่านเถิด ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสของท่าน”

“อย่าเลยท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็ไม่ต้องยอมเป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัวแสนกหาปณะ ให้ฉันแสนกหาปณะก็พอแล้ว”

ครั้นเศรษฐีหายป่วยแล้วก็ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าพิมพิสารแสนกหาปณะ และให้หมอชีวกแสนกหาปณะ

………….

การกำหนดท่านอน ๓ ท่า กำหนดระยะเวลานอนท่าละ ๗ เดือน ล้วนเป็น “ภาพลวงใจ” ขนาดมหึมาสำหรับเศรษฐีผู้ป่วย

ถ้าหมอชีวกบอกไปตามตรง-ให้เศรษฐีนอนนิ่งๆ ในท่าเดียว ๓ สัปดาห์หลังจากผ่าตัด เศรษฐีจะทนนอนนิ่งๆ ได้ถึง ๓ สัปดาห์หรือไม่? 

หมอมือดีนั้นไม่ใช่เก่งแต่กระบวนการรักษาโรคอย่างเดียว วิทยาการที่ต้องใช้ประกอบ-เช่นการอ่านลักษณะนิสัยของคนไข้แล้วใช้จิตวิทยาให้สอดคล้องกับนิสัยแบบนั้นก็ต้องเหนือชั้นอย่างยิ่งด้วย

………….

(*) คำว่า “พวกคนร่ำรวยชาวพระนครราชคฤห์” แปลจากศัพท์ว่า “ราชคหโก  เนคโม” คำว่า “เนคม” ปกติหมายถึงประชาชนพลเมืองทั่วไป แต่ตามเรื่องนี้ พวกเนคมรวมตัวกันเข้าไปกราบทูลขอหมอชีวกไปรักษาเศรษฐี จึงตีความว่าน่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนหรือพวกพ้องของเศรษฐีซึ่งมีอิทธิพลในบ้านเมืองพอสมควร คงจะพอเทียบได้กับกลุ่มที่เราเรียกกันว่า “ไฮโซ” นั่นเอง

กับอีกนัยหนึ่ง เศรษฐีผู้นี้คงเป็นกำลังสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของบ้านเมือง เมื่อเจ็บป่วยลงประชาชนก็เป็นห่วงเหมือนกับเป็น “คนของประชาชน” จึงเกิดการเรียกร้องให้ทางราชการยื่นมือเข้ามารับผิดชอบด้วย

ประเด็นนี้เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ก็จริง แต่มี “นัยะ” ทางการเมืองแฝงอยู่ลึกๆ

(**) “เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ” ตรงนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าวิทยาการทางการแพทย์ระดับผ่าตัดกะโหลกศีรษะมนุษย์สามารถทำได้มาตั้งแต่ครั้งกระโน้นแล้ว

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก 

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๒-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ เมษายน ๒๕๖๓

๑๖:๐๐

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *