บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตถาคโต

ตถาคโต

———-

Ongarj Puttarucksa‎ ถึง ทองย้อย แสงสินชัย

5 ชม. · 

๑๓ มกราคม ๒๕๖๐

อาจารย์ครับ ผมขอปรึกษาหน่อยครับ มีพระสูตนึงที่พระไตรปิฎกของสองที่แปลแล้วไม่เหมือนกัน ที่นึงกล่าวถึงสัตว์ อีกที่กล่าวตถาคต … ตกลงแล้วที่ไหนแปลถูก หรือจริงๆแล้วแปลถูกทั้งคู่ ผมเข้าใจผิดเอง รบกวนด้วยครับอาจารย์ครับ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ – พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙

พระพุทธศาสนา Buddhism Dhamma 84000.ORG

———-

(พระสูตรที่ถาม คือ อนุราธสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๗ ข้อ ๒๐๘)

คำที่เป็นปัญหา คือคำว่า “ตถาคต” ฉบับหนึ่งแปลว่า “ตถาคต” ฉบับหนึ่งแปลว่า “สัตว์” คำถามคือ-แล้วแปลว่าอะไรกันแน่

ควรทราบก่อนว่า ในภาษาบาลี คำว่า “ตถาคต” (แจกวิภัตติเป็น “ตถาคโต”) หมายถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ หมายถึงสัตวโลกทั่วไปก็ได้ (ดูภาพ ในที่นี้เห็นว่า “ตถาคต” ที่หมายถึงสัตวโลก เราไม่ค่อยรู้กัน จึงเสนอหลักฐานให้ดู ส่วน “ตถาคต” ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า เราคุ้นกันอยู่แล้ว)

คำบาลีในพระสูตรตรงที่ว่า “ตถาคโต  อุตฺตมปุริโส  ปรมปุริโส  ปรมปตฺติปตฺโต”

พระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ แปลว่า “พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม”

พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงแปลว่า “พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ ทรงถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม”

ตรงนี้แปล “ตถาคโต” ว่า “พระตถาคต” (หมายถึงพระพุทธเจ้า) ตรงกัน

คำบาลีในพระสูตรตรงที่ว่า “โหติ  ตถาคโต  ปรมฺมรณาติ  วา  น  โหติ  ตถาคโต  ปรมฺมรณาติ  วา”

พระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ แปลว่า –

“๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก

๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก”

พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงแปลว่า –

“สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑”

ฉบับมหาจุฬาฯ แปลทับศัพท์ว่า “ตถาคต”

ฉบับหลวงแปลออกศัพท์ว่า “สัตว์”

เข้าใจว่าที่ถามมานั้นปัญหาคงอยู่ตรงนี้ 

ที่แปลออกศัพท์ว่า “สัตว์” คงไม่มีปัญหา คือหมายถึงสัตวโลกทั่วไป ในโลกเรานี้ก็มีมนุษย์เป็นหลัก

แต่ที่แปลทับศัพท์ว่า “ตถาคต” มีปัญหาว่าจะให้เข้าใจว่ากระไร จะให้หมายถึง “พระตถาคต” คือพระพุทธเจ้าใช่ไหม หรือหมายถึงใคร หรืออะไร

ตามเรื่องในพระสูตร เป็นการพูดถึงปัญหาว่า คนเราตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก เป็นต้น

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการพูดถึงสัตวโลกทั่วไป ไม่ใช่ต้องการจะถามเน้นเฉพาะว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก

เพราะฉะนั้น คำว่า “ตถาคโต” ในประโยคว่า “โหติ  ตถาคโต  ปรมฺมรณาติ  วา  น  โหติ  ตถาคโต  ปรมฺมรณาติ  วา” จึงแปลว่า “สัตว์” หรือ “สัตวโลก” ซึ่งมุ่งจะให้หมายถึงมนุษย์ทั่วไปเป็นหลักตามกรอบของการสนทนาในพระสูตร

อรรถกถาของพระสูตรนี้ (คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค 2 หน้า 488) ก็ไขความให้เห็นความต่างกัน คือ ท่านยกคำว่า “ตํ  ตถาคโต” ในตัวพระสูตรมาอธิบายว่า –

(1) “ตํ” หมายถึง “สตฺตํ  ตถาคตํ” แปลว่า “ตํ” คือ “ตถาคตํ” และหมายถึง “สตฺตํ” คือสัตวโลก

(2) “ตถาคโต” หมายถึง “ตุมฺหากํ  สตฺถา  ตถาคโต” แปลว่า “ตถาคโต” คือ “ตถาคโต” ที่หมายถึง “ตุมฺหากํ  สตฺถา” คือพระศาสดาของพวกท่าน (เดียรถีย์พูดกับพระอนุราธะ)

สรุปว่า พระไตรปิฎกแปลทั้งสองฉบับไม่ได้แปลผิดหรือแปลขัดแย้งกัน คำว่า “ตถาคโต” ฉบับหลวงแปลออกศัพท์ว่า “สัตว์” คือระบุตรงๆ แต่ฉบับมหาจุฬาฯ แปลทับศัพท์ว่า “ตถาคต” เหมือนกับแทงกั๊กเอาไว้ แล้วให้ไปตีความกันอีกทีหนึ่ง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๐

๑๕:๕๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *