ภารธุระ (บาลีวันละคำ 1,768)
ภารธุระ
ยังไม่ถึงเวลา ก็อย่าเพิ่งวาง
อ่านว่า พา-ระ-ทุ-ระ
แยกศัพท์เป็น ภาร + ธุระ
(๑) “ภาร”
บาลีอ่านว่า พา-ระ รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือยืดเสียง อะ ที่ ภ-(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)
: ภรฺ + ณ = ภรณ > ภร > ภาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทรงไว้” (สิ่งที่แบกรับน้ำหนักของสิ่งอื่นไว้) (2) “สิ่งอันเขาทรงไว้” (สิ่งที่เป็นน้ำหนักให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นต้องแบกรับ)
“ภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สิ่งที่นำไป, สัมภาระ (anything to carry, a load)
(2) การบรรทุก, เต็มรถคันหนึ่ง [เป็นการวัดปริมาณ] (a load, cartload [as measure of quantity])
(3) สิ่งที่ยากลำบาก, ภาระหรือหน้าที่, สิ่งที่อยู่ในการดูแล, ธุรกิจ, หน้าที่, การงาน, กิจธุระ (a difficult thing, a burden or duty, a charge, business, office, task, affair)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาร, ภาร-, ภาระ ๑ : (คำนาม) ของหนัก, นํ้าหนัก; ธุระที่หนัก, การงานที่หนัก; หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่มีภาระในการเลี้ยงดูลูก ครูมีภาระในการอบรมสั่งสอนศิษย์, ความรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่ตายหมด พี่ต้องรับภาระส่งเสียเลี้ยงดูน้อง. (คำวิเศษณ์) หนัก. (ป.).”
(๒) “ธุระ”
บาลีเป็น “ธุร” (ทุ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ), ลบ พฺพ (ธุพฺพ > ธุ)
: ธุพฺพิ > ธุพฺพ + อร = ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” คือเบียดเบียนผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้ต้องลำบากลากเข็นนำพาไป
(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุร)
: ธรฺ + อ = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้” คือยังจะต้องลากเข็นนำพาไป ยังวางลงไม่ได้
“ธุร” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)
(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)
(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)
(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)
(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)
“ธุร” ในภาษาไทย ถ้าใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ เขียนว่า “ธุระ” (ประวิสรรชนีย์)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทํา, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่องส่วนตัว เช่น ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”
ภาร + ธุร = ภารธุร ในภาษาไทยใช้ว่า “ภารธุระ” อ่านว่า พา-ระ-ทุ-ระ แปลว่า “การงานที่ต้องรับผิดชอบ”
โปรดสังเกตว่า “ภารธุระ” ประวิสรรชนีย์ (คือใส่สระ อะ) หลังคำว่า “-ธุระ” แต่ไม่ประวิสรรชนีย์กลางคำ คือเขียนว่า “ภารธุระ” ไม่ใช่ “ภาระธุระ”
ดูตามความหมายของศัพท์ ทั้ง “ภาร” และ “ธุร” มีความหมายใกล้เคียงกัน อาจใช้แทนกันหรือเสริมกันและกันได้
ภาษาไทยสำนวนเก่า เช่นสำนวนภาษาในสัญญาบัตรแต่งตั้งพระสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ นิยมใช้คำว่า “ภารธุระ” เช่น “… ขออาราธนาพระคุณเจ้ารับภารธุระแห่งพระศาสนา …”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าคิดจะช่วยกันแบก โลกทั้งใบก็ยังเบา
: ถ้าคิดว่าไม่ใช่ธุระของเรา ขยะชิ้นเดียวก็หนักเกินกำลังมือ
9-4-60