บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ดอกบัวในหัวใจ

จาก-๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘

ถึง-๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙

………………….

เหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้น ณ สามแยกชยางกูร – เรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อบ่ายวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ 

แม่เฒ่าผู้ถวายดอกบัวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชื่อ ตุ้ม จันทนิตย์  

ผู้ฉายภาพนี้คือ นายอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์

แม่เฒ่าตุ้มเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ที่บ้านเหมืองป่า ตำบลอาฮวน ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร  นามสกุลของแม่เฒ่าตุ้มก่อนแต่งงาน คือ จักกัติ 

แม่เฒ่าตุ้มได้สมรสกับนายบู่ จันทนิตย์ ชาวอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านธาตุน้อย  อันเป็นภูมิลำเนาของสามี ปัจจุบันคือบ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ ๑๑ บ้านศรีบุญเรือง ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ประกอบอาชีพทำนาและปลูกพืชผักจำหน่ายตามฤดูกาล  มีบุตร ๔ คน  คือ นายคุณ นางพิมสุดชา นายอุ่น และ นายเกิ่ง

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวนครพนม เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนม  ทางราชการได้จัดจุดรับเสด็จไว้ให้พสกนิกรเข้าเฝ้าที่บริเวณสองฟากถนนตรงสามแยกชยางกูร – เรณูนคร

ตามคำบอกเล่าของนางเพ็ง จันทนิตย์ ลูกสะใภ้ ซึ่งเป็นภรรยาของนายเกิ่ง (ลูกชายคนสุดท้อง) และนางหอม แสงพระธาตุ ผู้เป็นน้องสาวของนางเพ็ง ได้ความว่า ลูกหลานช่วยกันนำแม่เฒ่าไปรอรับเสด็จตั้งแต่เช้า ห่างจากบ้านพักประมาณ ๗๐๐ เมตร นางหอมเป็นผู้จัดหาดอกบัวสีชมพูให้แก่แม่เฒ่าตุ้ม จำนวน ๓ ดอก   

ครั้นถึงตอนบ่าย ดอกบัวที่เตรียมไว้จึงเหี่ยวหมด

แม่เฒ่าตุ้มแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองตามแบบของหญิงสูงอายุในแถบริมแม่น้ำโขง สวมเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อดี อย่างหนา คอกลม แขนยาว สีน้ำตาลไหม้ นุ่งซิ่นหมี่ ผ้าฝ้าย ลายหมากจับ (ลายกระจับ) ตีนซิ่นเป็นลายท้องเอี่ยน (ลายท้องปลาไหล)

สำนักพระราชวังได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม ขนาด ๑๒ นิ้ว พร้อมทั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ พระราชทานผ่านทางอำเภอพระธาตุพนมไปให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

แม่เฒ่าตุ้มถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ สิริอายุได้ ๑๐๕ ปี

บรรดาลูกหลานเหลนได้สร้างธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่เฒ่าตุ้มไว้ริมสวนหน้าบ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ ๑๑ มีข้อความจารึกว่า “แผ่นดินผืนนี้รับถ่ายทอดมาจากพ่อบู่ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ เพื่อให้ลูกหลานทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในที่นี้จงช่วยกันรักษาให้เจริญสืบไป”

…………..

ดอกบัวในมือแห้งเหี่ยวไป

แต่ดอกบัวในหัวใจบานอยู่ตลอดกาล

———————-

(ข้อมูลจาก วารสารไทย ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๗๔ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๔๓)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

Related posts:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *