บาลีวันละคำ

คาถาในดวงตรามหาจักรี (บาลีวันละคำ 1,622)

คาถาในดวงตรามหาจักรี

…………

เขียนแบบบาลี :

ติรตเน  สกรฏฺเฐ  จ…..สมฺพํเส  จ  มมายนํ

สกราโชชุจิตฺตญฺจ…….สกรฏฺฐาภิวฑฺฒนํ

เขียนแบบคำอ่าน :

ติระตะเน  สะกะรัฏเฐ  จะ…สัมพังเส  จะ  มะมายะนัง

สะกะราโชชุจิตตัญฺจะ……..สะกะรัฏฐาภิวัฑฒะนัง ฯ

คำแปล :

ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี

ในรัฐของตนก็ดี

ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี

มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี

ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง.

แปลยกศัพท์ :

มมายนํ ความนับถือรักใคร่

ติรตเน  จ  ในพระรัตนตรัยก็ดี

สกรฏฺเฐ  จ ในรัฐของตนก็ดี

สมฺพํเส  จ ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี

สกราโชชุจิตฺตญฺจ มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี

สกรฏฺฐาภิวฑฺฒนํ ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง.

ขยายคำ :

(๑) “ติรตเน” (ติ-ระ-ตะ-เน) ศัพท์เดิมเป็น “ติรตน” ประกอบด้วย ติ (สาม) + รตน (ดวงแก้ว) = ติรตน แปลว่า “แก้วสามดวง” คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เราคุ้นกันในคำว่า “ไตรรัตน์” หรือ “รัตนตรัย” (the Three Jewels; the Three Gems; Triple Gem) เป็นสิ่งที่ควรเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา

(๒) “สกรฏฺเฐ” (สะ-กะ-รัด-เถ) ศัพท์เดิมเป็น “สกรฏฺฐ” ประกอบด้วย สก (ของตน) + รฏฺฐ (ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง reign, kingdom, empire; country, realm)

สก + รฏฺฐ = สกรฏฺฐ แปลว่า “ประเทศของตน”

(๓) “สมฺพํเส” (สำ-พัง-เส) ศัพท์เดิมเป็น “สมฺพํส” ประกอบด้วย (สะ) (ของตน) + วํส (วัง-สะ), ลงนิคหิตอาคมที่ แล้วแปลงเป็น มฺ ( > สํ > สมฺ), แปลง เป็น

: > สํ > สมฺ + วํส = สมฺวํส > สมฺพํส แปลว่า “ตระกูลของตน

วํส” ศัพท์เดิมหมายถึง “ไม้ไผ่” แปลเอาความตามรากศัพท์ว่า “ขยายตัวโดยเกาะเกี่ยวกันออกไป” (นึกถึงธรรมชาติของไผ่)

เมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ “วํส” จึงมีความหมายว่า เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล, ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง, ราชวงศ์ (race, lineage, family, tradition, hereditary custom, usage, reputation, dynasty)

(๔) “มมายนํ” (มะ-มา-ยะ-นัง) เป็นคำนามที่แปลงรูปมาจากคำกริยา มมายติ แปลว่า ติดพัน, รัก, ชอบ, เชิดชู, ทะนุถนอม, เลี้ยง, รักษา, ส่งเสริม, รัก (to be attached to, to be fond of, to cherish, tend, foster, love)

รากศัพท์มาจาก มม (มะ-มะ) (ของเรา) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป), แปลง อิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (อิ > เอ > อย), ทีฆะ อะ ที่ -(ย) เป็น อา (อย > อาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: มม + อิ > เอ > อย = มมาย + ยุ > อน = มมายน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นไปแห่งจิตว่าสิ่งนี้เป็นของเรา

(๕) “สกราโชชุจิตฺตญฺจ” เป็นคำสนธิระหว่าง สกราโชชุจิตฺตํ + , แปลงนิคหิตที่ —ตํ เป็น ญฺ

สกราโชชุจิตฺตํ” ศัพท์เดิมเป็น “สกราโชชุจิตฺต” ประกอบด้วย –

ก. สก (ของตน) + ราช (พระราชา) = สกราช แปลว่า “พระราชาของตน”

ข. อุชุ (ตรง) + จิตฺต (จิตใจ) = อุชุจิตฺต แปลว่า “จิตใจที่ซื่อตรง”

ค. สกราช + อุชุจิตฺต แผลง อุ ที่ อุ-(ชุ) เป็น โอ = สกราโชชุจิตฺต แปลว่า “จิตใจที่ซื่อตรงต่อพระราชาของตน”

(๖) “สกรฏฺฐาภิวฑฺฒนํ” (สะ-กะ-รัด-ถา-พิ-วัด-ทะ-นัง) ศัพท์เดิมเป็น “สกรฏฺฐาภิวฑฺฒน” ประกอบด้วย –

ก. สก + รฏฺฐ = สกรฏฺฐ แปลว่า “ประเทศของตน”

ข. อภิ (ยิ่ง) + วฑฺฒน (ความเจริญ, เหตุแห่งความเจริญ) = อภิวฑฺฒน แปลว่า “ความเจริญอย่างยิ่ง” หรือ “เหตุแห่งความเจริญอย่างยิ่ง”

ค. สกรฏฺฐ + อภิวฑฺฒน ทีฆะ อะ ที่ -(ภิ) เป็น อา (อภิ > อาภิ) = สกรฏฺฐาภิวฑฺฒน แปลว่า “เป็นความเจริญอย่างยิ่งแห่งประเทศของตน” หรือ “เป็นเหตุแห่งความเจริญอย่างยิ่งแห่งประเทศของตน”

ข้อมูล :

๑ ภาษาบาลีข้างต้นรจนาเป็นคาถาหรือฉันท์ชนิดที่มีชื่อว่า “ปัฐยาวัตร” (ปัด-ถะ-หฺยา-วัด) ฉันท์ชนิดนี้ปกติมีบาทละ 8 พยางค์

๒ ทราบจากหน้าโพสต์ของ Koson Teenasuan ว่า คาถาบทนี้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้รจนา

การบ้าน :

ควรช่วยกันศึกษาสืบค้นข้อมูลอื่นๆ ต่อไป เช่น รจนาขึ้นในปีไหน มีมูลเหตุมาอย่างไร คำแปลที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นสำนวนแปลของท่านผู้ใด เป็นต้น

……………

หนึ่ง: รักเจ้านายด้วยน้ำใจซื่อตรง

สอง: รักตระกูลวงศ์คิดบำรุงให้รุ่งเรือง

สาม: รักบ้านเมืองที่ตนเกิดและอยู่อาศัย

สี่: รักพระรัตนตรัยคือพระพุทธศาสนา

สี่รักคือรากฐานของการพัฒนาสังคมไทย

————–

(ภาพและคาถาจากโพสต์ของ Koson Teenasuan ขออนุญาตนำมาขยายความโดยวิสาสะ)

12-11-59