อวิโรธนะ-ข้อ 10 ในทศพิธราชธรรม (บาลีวันละคำ 1,639)
อวิโรธนะ-ข้อ 10 ในทศพิธราชธรรม
………………………………………
“ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)
บาลีเป็น “ทสวิธราชธมฺม” (ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ)
ทส = สิบ (จำนวนสิบ)
วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ
ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง
ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ
“ทสวิธ” แปลว่า “มีสิบอย่าง” (tenfold)
“ราชธมฺม” แปลว่า “ราชธรรมหรือหลักของการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”, คือ กฎของการปกครอง, แบบแผนของความเป็นกษัตริย์ (“king’s rule,” i. e. rule of governing, norm of kingship)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ราชธรรม 10 บอกความหมายไว้ว่า –
“ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (Rājadhamma: virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler).”
“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย – 1 ทาน 2 ศีล 3 ปริจจาคะ 4 อาชชวะ 5 มัททวะ 6 ตบะ 7 อักโกธะ 8 อวิหิงสา 9 ขันติ 10 อวิโรธนะ
………………………………………
“อวิโรธนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อวิโรธน” (อะ-วิ-โร-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อ + วิโรธน
(๑) “อ” (อะ) คำเดิมคือ “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์
“อมนุษย์” รากเดิมจึงไม่ใช่ อ + มนุษย์ อย่างที่ตาเห็นในภาษาไทย
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “วิโรธน” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ
(๒) “วิโรธน” อ่านว่า วิ-โร-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + รุธฺ (ธาตุ = ผิด, คลาดไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น โอ (รุธ > โรธ)
: วิ + รุธฺ = วิรุธฺ + ยุ > อน = วิรุธน > วิโรธน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ผิด” หมายถึง ขัดขวาง, ความกีดขวาง, ความเป็นปรปักษ์, ความขัดกัน (opposing, obstruction, opposition, contradiction)
“วิโรธน” คำนี้บาลีเป็น “วิโรธ” (วิ-โร-ทะ) อีกรูปหนึ่ง และในสันสกฤตก็มีศัพท์ “วิโรธ” เช่นกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิโรธ : (คำนาม) ‘วิโรธ, พิโรธ,’ ศัตรุตา, ความเปนศัตรู, ทุษฏภาพ, ความแค้นเคือง; สงคราม; ความวิบัท; enmity, ill-will, or animosity; war; calamity.”
“วิโรธ” ในบาลีสันสกฤต ภาษาไทยเอามาใช้เป็น “พิโรธ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิโรธ : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) โกรธ, เคือง, ใช้ว่า ทรงพระพิโรธ. (ป., ส. วิโรธ ว่า การขัดขวาง).”
……….
น > อ + วิโรธน = อวิโรธน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ไม่ผิด” หมายถึง การไม่มีอุปสรรค, การไม่ถูกขัดขวาง, ความสุภาพ, ความไม่ผิด (absence of obstruction, absence of opposition, gentleness)
……………
ความหมายเฉพาะของ “อวิโรธนะ” ข้อ 10 ในทศพิธราชธรรม :
คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 8 อันเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมหาหังสชาดกซึ่งเป็นที่มาของหลักทศพิธราชธรรม หน้า 283 ไขความคำว่า “อวิโรธนะ” ไว้ว่า –
“อวิโรโธ อวิโรธนํ”
แปลว่า “ความไม่คลาดเคลื่อน ชื่อว่า อวิโรธนะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป — Avirodhana: non-deviation from righteousness; conformity to the law).”
……………
ดูก่อนภราดา!
: ของใหม่ก็เลือกเอา
: ของเก่าก็เลือกอิง
: ข้อเท็จจริงก็ไม่มองผ่าน
: หลักการก็ไม่มองผิด
บ้านเมืองไม่วิปริต ถ้าได้ผู้ปกครองดั่งนี้
29-11-59