บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บูชาพระด้วยของกิน

สิ่งที่ควรมีมากกว่าศรัทธา

……………

เมื่อเช้านี้ (๒๒ กันยายน ๒๕๕๙) ผมเดินออกกำลังไปทางโรงพยาบาลราชบุรี ขึ้นไปไหว้พระบนหอพระและหยอดตู้บริจาคตามที่เคยทำมาทุกครั้ง

วันนี้รู้สึกแปลกๆ นิดหน่อยเพราะได้เห็นมีผู้เอาไข่ไก่มาบูชาพระ ตามภาพที่ลงประกอบเรื่องวันนี้

การบูชาพระพุทธปฏิมาด้วยของกิน เป็นสิ่งที่มีผู้นิยมทำกันทั่วไป เช่นตั้งน้ำและผลไม้บูชาพระที่โต๊ะหมู่บูชาหรือบนหิ้งพระที่บ้านเป็นกิจประจำวัน

เรื่องนี้น่าจะต้องถอยไปตั้งหลักกันที่ธรรมเนียมบูชาข้าวพระ

………………………………………..

ความเป็นมาของการบูชาข้าวพระ

………………………………………..

เท่าที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ก็ดี ศึกษาจากธรรมเนียมประเพณีวิถีชีวิตของสังคมสงฆ์ในสมัยพุทธกาล อันปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ก็ดี ผมขอแสดงความเป็นมาของการบูชาข้าวพระตามความเข้าใจของผมเอง ดังต่อไปนี้ (ถ้าท่านผู้ใดมีความเข้าใจเป็นประการอื่น และแน่ใจว่าถูกต้องกว่า ขอได้โปรดเมตตาชี้แนะเผยแพร่เป็นธรรมทานด้วย จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่งแก่ชาวพุทธทั้งหลาย)

ในสมัยพุทธกาล เมื่อชาวบ้านมีศรัทธานิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ตามปกติก็จะมีพระพุทธเจ้าเสด็จไปด้วย ดังมีคำบาลีว่า “พุทฺธปฺปมุโข  ภิกฺขุสงฺโฆ” แปลว่า “หมู่แห่งภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข” 

และมีธรรมเนียมว่า สถานที่ซึ่งพระสงฆ์ไปนั่งชุมนุมกันอยู่ เช่นในศาลาฟังธรรมเป็นต้น จะต้องปูลาดอาสนะที่ประทับของพระพุทธเจ้า (พุทธอาสน์) ไว้ด้วยเสมอ ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จหรือไม่ก็ตาม 

ปกติพระสงฆ์ฉันในบาตร ไม่ได้นั่งล้อมวงฉันอย่างที่เรามักเห็น อาหารที่จัดถวาย จึงจัดเป็นชุดๆ ถวายเป็นองค์ๆ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้นไป 

การปูลาดพุทธอาสน์ และจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จึงเป็นภาพที่ติดตาติดใจของชาวพุทธตลอดมา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใหม่ๆ พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากไปปรนนิบัติปัดกวาดพระคันธกุฎีที่ประทับ เคยหมอบเคยกราบอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ 

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใหม่ๆ ชาวพุทธยังชินอยู่กับการจัดพุทธอาสน์และภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ก็จึงจัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและจัดภัตตาหารตั้งไว้ เสมือนหนึ่งว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมจัดข้าวพระพุทธ และการประกอบบุญกิริยาที่เรียกกันว่า “บูชาข้าวพระ” หรือ “ถวายข้าวพระ” มาจนถึงทุกวันนี้

ที่ประทับ แปรรูปมาเป็นโต๊ะหมู่บูชา

ภัตตาหาร แปรรูปมาเป็นข้าวพระพุทธ

……………………………..

เหตุผลที่จัดข้าวพระพุทธ 

……………………………..

ข้าวพระ หรือข้าวพระพุทธ จะจัดก็ต่อเมื่อมีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์เท่านั้น ไม่ใช่จัดเป็นเครื่องบูชาประจำวัน 

ขอได้โปรดระลึกถึงเหตุผลตามผมไปหน่อยนะครับ –

เราจัดข้าวพระพุทธเป็นพุทธานุสติ ไม่ใช่จัดเพื่อให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวย

เวลาอื่นๆ ตามปกติ เมื่อเราระลึกพระพุทธเจ้าเราก็ไม่ได้จัดอาหารหรือของกิน เช่นน้ำหรือผลไม้ถวายพระพุทธเจ้า เพราะเรารู้ว่าพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผี ไม่มีส่วนไหนของพระองค์ที่ยังจะมา “กินอาหาร” ได้อีก 

แล้วเราจะเอาอาหารไปถวายหรือบูชาพระองค์เพื่ออะไร 

แต่เมื่อใดที่มีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อนั้นเราระลึกได้ว่า พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตามที่ชาวพุทธคุ้นเคยตั้งแต่ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน 

เมื่อเราถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ในสมัยนั้นเราก็ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าด้วยเสมอ 

เพราะฉะนั้น เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ในเวลานี้ เราก็จึงจัดภัตตาหารสำหรับพระพุทธเจ้าด้วย ไม่ใช่เพื่อให้พระองค์เสด็จมาเสวย แต่จัดในฐานะเป็นเครื่องบูชา เป็นเครื่องเจริญพุทธานุสติเท่านั้น 

ถามว่า ในเวลาอื่นที่ไม่ได้มีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ จะจัดอาหารและของกินเป็นเครื่องบูชาไม่ได้หรือ ผิดตรงไหน

ต้องย้อนถามก่อนว่า ที่เราจัดเฉพาะเวลาที่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ก็เพราะระลึกว่าในที่ประชุมสงฆ์เช่นนั้นเมื่อยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เราเคยจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าด้วย 

ถ้าจัดในเวลาอื่นที่ไม่ได้มีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ จะอ้างเหตุผลว่าอย่างไร?

……………………………..

หลักในการบูชาหรือถวาย

……………………………..

กล่าวโดยทั่วไป ของที่ใช้บูชาหรือถวายพระ หรือมอบให้ใครก็ตาม มี ๒ ประเภท คือ –

1 ของกิน

2 ของใช้  (คือของที่ไม่ใช่ของกิน)

ของกิน บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

ของใช้ บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้

เหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ (โปรดทราบว่า เรื่องนี้ผมกำหนดเองด้วยเหตุผลของผมเอง) ก็เพราะ –

๑ ของกิน 

ไม่ว่าจะเป็นของพร้อมกิน หรือส่วนประกอบที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นของสำหรับเอาไปปรุงเป็นของกิน เช่น ผัก หรือไข่ ของพวกนี้ทำขึ้นหรือมีไว้ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญเพียงอย่างเดียวคือ-เพื่อกิน เท่านั้น 

ไม่ใช่เอาไว้ดูเล่น หรือเป็นของที่ระลึก

ผู้ที่จะกินได้ก็คือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และกินเพื่อดำรงชีพต่อไป (แต่อาจจะกินเพื่อสนองไมตรีหรือฉลองศรัทธา ก็เป็นเรื่องปลีกย่อยนอกวัตถุประสงค์ตามปกติ)

พูดสั้นๆ คนตายแล้วไม่ต้องใช้ของกิน

ด้วยเหตุด้วยผลเช่นนี้ ของกินจึงต้องใช้บูชา หรือถวาย หรือมอบให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

อนึ่ง โปรดทราบว่า การเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยของกิน เป็นการปฏิบัติตามค่านิยมหรือตามความเชื่อ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการบูชาข้าวพระ

พูดกันตรงๆ ก็คือ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผีบรรพบุรุษ เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ไม่มีส่วนใดที่ยังจะต้อง “กิน” เหลืออยู่ การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยของกินจึงไม่สมเหตุสมผล

๒ ของใช้ 

ของใช้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อกิน แต่ตามปกติคนที่จะใช้ก็ต้องเป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

แต่ของใช้บางชนิด แม้จะทำขึ้นเพื่อใช้สอย แต่ก็อาจมีฐานะเป็นของที่ระลึกได้ด้วย

ไม่ต้องยกตัวอย่างว่ามีอะไรบ้าง เพราะเห็นกันได้ทั่วไป

ของที่ระลึกนั้น คนเป็นเก็บไว้สำหรับตัวเองก็ได้ 

คนเป็นมอบให้คนเป็นด้วยกันเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงกันหรือเพื่อบูชาคุณก็ได้

คนเป็นเก็บไว้เป็นเครื่องระลึกถึงหรือเพื่อบูชาคุณคนตายก็ได้

เพราะฉะนั้น ของใช้จึงสามารถมอบให้ได้ทั้งแก่คนเป็นและแก่คนตาย

เครื่องบูชาพระรัตนตรัยตามปกติที่เราเห็นและใช้กันลงตัวก็คือ ดอกไม้ ธูป เทียน

แต่ของใช้อื่นๆ (ที่สมควร) นอกจากดอกไม้ ธูป เทียน ก็สามารถใช้เป็นเครื่องบูชาได้ทั้งสิ้น คือใช้เป็นเครื่องระลึกถึง จะระลึกถึงพระรัตนตรัย หรือระลึกถึงใคร หรือแม้แต่ระลึกถึงตัวของผู้บูชาเองก็ย่อมได้

ดังที่มีบันทึกบอกเล่ากันมาว่า คราวหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับจากจากการพระราชสงคราม เสด็จเข้าไปทรงนมัสการพระพุทธชินราช ทรงมีพระราชศรัทธาขึ้นมาในปัจจุบันทันด่วน ทรงปลดพระแสงดาบถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา ว่ากันว่าพระแสงดาบองค์นั้นยังเก็บรักษาไว้ที่วัดพระพุทธชินราชจนทุกวันนี้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ของเรานี้เอง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทรงอุทิศพระแสงดาบถวายเป็นราวเทียนบูชาหน้าพระพุทธปฏิมาในพระอุโบสถวัดมหาธาตุที่กรุงเทพฯ ยังมีปรากฏอยู่

ที่อนุสาวรีย์ของบุคคล หรือสถานที่หรือสิ่งของอันมีผู้เคารพนับถือในที่ต่างๆ ปรากฏว่ามีผู้บูชาด้วยสิ่งของต่างๆ หลากหลายชนิด รวมทั้ง “ของกิน” ด้วย

ถ้ายึดหลัก – 

ของกินบูชาคนเป็น 

ของใช้บูชาได้ทั้งคนเป็นคนตาย

เราก็จะมีหลักปฏิบัติที่ประกอบด้วยเหตุผลที่อธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล

——————–

สำหรับญาติมิตรที่นิยมจัดของกิน เช่นน้ำและผลไม้ เป็นเครื่องบูชาพระเป็นปกติ ผมไม่มีความประสงค์จะไปทักท้วงหรือหักล้างแต่ประการใด มีแต่จะขออนุโมทนาในส่วนที่เป็น “ศรัทธา” ของทุกท่าน

ท่านที่มีศรัทธาจะทำเช่นนั้น โปรดทำต่อไปตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม 

ท่านอาจมีเหตุผลอีกมากมายสำหรับการปฏิบัติเช่นนั้น เช่น ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น ท่านผู้นั้นผู้โน้นที่เป็นผู้ทรงความรู้ท่านก็ทำ ฯลฯ

รวมทั้งสัมผัสพิเศษส่วนตัวอันอยู่เหนือเหตุผลและคำบรรยาย

ขอแต่เพียงว่า ในฐานะชาวพุทธ เราควรจะมีเหตุผลในการจัดเครื่องบูชาพระ ที่มากกว่า “ความเชื่อ” หรือการทำตามๆ กันมา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กันยายน ๒๕๕๙

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *