บาลีวันละคำ

บาลี (บาลีวันละคำ 1,570)

บาลี

อ่านกันมาตั้งหลายคำ ขอแนะนำให้รู้จัก

บาลี” ภาษาบาลีว่า “ปาลิ” อ่านว่า ปา-ลิ ( -ลิ สระ อิ) ในตำรามักแสดงรูปคำเดิมว่า “ปาฬิ” ( –ฬิ จุฬา) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปาลฺ (ธาตุ = รักษา) + อิ ปัจจัย, แปลง เป็น

: ปาลฺ + อิ = ปาลิ > ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้

(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ฬิ ปัจจัย

: ปา + ฬิ = ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่รักษาเนื้อความในศัพท์บาลีที่กล่าวถึงปริยัติธรรมไว้

(3) ปาฬิ (ขอบ, แนว) + ปัจจัย, ลบ

: ปาฬิ + = ปาฬิณ > ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่เปรียบเหมือนเขื่อนใหญ่ที่มั่นคงของบึงใหญ่เพื่อรักษาน้ำภายในไว้

(4) (แทนศัพท์ว่า “ปกฏฺฐ” = ยิ่งใหญ่, สำคัญ) + อาฬิ (ถ่องแถว)

: + อาฬิ = ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ถ่องแถวแห่งวจนประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่” (วจนประพันธ์นั้นชื่อว่ายิ่งใหญ่ (1) เพราะให้รู้ความหมายแห่งศีลเป็นต้นที่ยิ่งใหญ่ และ (2) เพราะพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้ยิ่งใหญ่ตรัสไว้)

ขยายความ :

๑ คำว่า “ปาฬิ” ( จุฬา) เป็นคำเดิมในศัพท์บาลี คัมภีร์รุ่นเก่าเขียนเป็น “ปาฬิ” จนมีคำเรียก “” ว่า บาฬี แต่ต่อมาได้ชำระแก้ไขเป็น “ปาลิ” (ล ลิง) อย่างไรก็ตาม นักภาษายอมรับว่าคำนี้ใช้ได้ทั้ง “ปาฬิ” และ “ปาลิ” ปัจจุบันนี้สำนักวิชาการบางแห่งยืนยันที่จะใช้ “ปาฬิ” เป็นหลักในเอกสารของสำนัก

ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “บาลี” (บา ใบไม้ –ลี ลิง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาลี : (คำนาม) ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท; คัมภีร์พระไตรปิฎก, พุทธพจน์, เรียกว่า พระบาลี. (ป., ส. ปาลิ).”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “บาฬี” ไว้

๒ “บาลี” ในภาษาไทยมีความหมาย 2 อย่าง ตามที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายไว้ ดังนี้ –

1. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ

2. พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก;

ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี” ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 1. ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลี หรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 2. ให้ใช้คำว่า พระบาลี.

…………….

สรุปว่า “บาลี” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

1 ภาษาบาลี

2 คัมภีร์พระไตรปิฎก

๓ ภาษาบาลีมีคำเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษามคธ” (–มะ-คด) บางทีเรียกสั้นๆ ว่า “มคธ” ก็เป็นอันรู้กัน คำบาลีว่า “มาคธี ภาสา” (มา-คะ-ที พา-สา) มีความหมายว่า “ภาษาของชาวแคว้นมคธ” เนื่องจากภาษาบาลีมีกำเนิดมาจากภาษาเดิมของชาวแคว้นมคธ แต่ได้พัฒนาหลักไวยากรณ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ในการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ใช้คำว่า “มคธ” ในความหมายว่า “ภาษาบาลี” เช่น วิชาแปลไทยเป็นมคธ คือวิชาแปลภาษาไทยเป็นภาษาบาลี

๔ มักมีผู้เข้าใจว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ตายแล้ว หมายถึงเป็นภาษาที่ไม่มีคนชาติไหนในโลกใช้ติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

ความจริง ภาษาบาลีสามารถใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับภาษาของชาติต่างๆ ที่ใช้พูดกันในทุกวันนี้

คำว่า “ภาษาที่ตายแล้ว” นักบาลีส่วนหนึ่งพยายามให้ความหมายใหม่เป็นว่า “ภาษาที่มีแบบแผนตายตัว” ดังที่เรียกภาษาบาลีตามลักษณะนี้ว่า “ตันติภาษา” แปลว่า “ภาษาที่มีแบบแผน” คือมีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่แน่นอน ทำให้ความหมายยืนตัวคงที่ และด้วยเหตุผลนี้เองท่านจึงเลือกใช้เป็นภาษาที่บันทึกหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อมิให้คำสอนถูกตีความให้ผิดเพี้ยนไปตามยุคสมัยได้ง่ายๆ

๕ สำหรับ “บาลี” ที่หมายถึงคัมภีร์พระไตรปิฎก ควรรู้เพิ่มเติมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นว่า คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาท่านจัดลำดับตามอายุของคัมภีร์เป็น –

(1) “พระไตรปิฎก” หรือ “พระบาลี” (นิยมเรียกทั้งสองชื่อ) คือพระธรรมวินัยที่รวบรวมไว้ในคราวทำปฐมสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 3 เดือน นับเป็นคัมภีร์ชั้นสูงสุด (ดูข้อ 2. ของพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ ที่อ้างข้างต้น)

(2) “อรรถกถา” คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ชั้นที่สอง

(3) “ฎีกา” คัมภีร์อธิบายอรรถกถา เป็นคัมภีร์ชั้นที่สาม

(4) “อนุฎีกา” คัมภีร์อธิบายฎีกา เป็นคัมภีร์ชั้นที่สี่

คัมภีร์ทุกชั้นรจนาไว้เป็นภาษาบาลี

คัมภีร์แต่ละชั้น รวมทั้งคัมภีร์ที่ต่อจากอนุฎีกาลงมา มีรายละเอียดอีกมาก แต่รู้ไว้เท่านี้ก่อน

…………….

ดูก่อนภราดา!

: อย่ามัวแต่เรียนบาลี

: จนลืมเรียนรู้วิธีไปนิพพาน

21-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย