บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เทพประทานพร

—————

ผมเดินออกกำลังตอนเช้าแบบไม่ซ้ำทิศทาง 

ถ้าใช้ภาษานักเลงก็ต้องบอกว่า-ดักตีหัวไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะไปทางไหน

ช่วงเวลาเดินออกกำลัง นอกจากได้บริหารร่างกายแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญอีกด้วย

อย่างแรก-และทำเป็นประจำวัน-คือทานมัย

ผมไม่ได้ใส่บาตร ด้วยเหตุผลที่เคยบอกมาแล้ว

แต่ใส่ตู้บริจาคตามวัดแทน

นอกจากนี้ก็จะเป็นบุญจร กล่าวคือ-แล้วแต่จะไปเจออะไร

ถ้าไม่เจออะไร ผมก็บำเพ็ญบุญภาวนามัยเป็นพื้น

สวดมนต์ไปบ้าง 

เจริญสติกำหนดอิริยาบถที่กำลังก้าวเท้าแขว่งแขนไปในขณะเดินบ้าง 

ตาดูหูฟังภาพและเสียงที่อยู่รอบตัว กำหนดว่าเห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยินบ้าง

เรียกว่า เก็บบุญใส่ย่ามไปตามสัตติกำลัง

สัตติ แปลว่า ความสามารถที่มีอยู่-คือทำเป็น

กำลัง แปลว่า เรี่ยวแรงที่มีอยู่-คือทำไหว

บางเรื่องทำเป็น แต่ทำไม่ไหว เช่นอยากเปิดโรงเรียนสอนบาลี แต่ไม่มีทุน

บางเรื่องทำไหว แต่ทำไม่เป็น เช่นรวยไม่รู้เรื่อง คือมีเงิน แต่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์อย่างไรดี

ตามสัตติ ภาษาบาลีว่า ยถาสตฺติ

ตามกำลัง ภาษาบาลีว่า ยถาพลํ

สัตติ เรามักพูดและเขียนกันผิดเป็น “สติ” ที่แปลว่าความระลึกได้

โปรดทราบว่า คำที่ถูกต้อง คือ ตามสัตติกำลัง

ไม่ใช่ตามสติกำลัง

————

วันนี้ผมเดินผ่านไปทางหน้าโรงพยาบาลเมืองราช

ถนนหน้าโรงพยาบาลเขาปลูกต้นปาล์มบนเกาะกลางถนน

ไม้ชนิดต้นเดียวยอดเดียวแบบนี้เราเรียกเป็นคำอังกฤษว่า ปาล์ม (palm) ทั้งนั้น

ปาล์มไทยคือตาล-มะพร้าว

ส่วนปาล์มที่นิยมปลูกบนเกาะกลางถนนจะมีชื่อเฉพาะว่าอย่างไรไม่ทราบ 

แต่ไม่ได้ปลูกไว้ “เอารส” คือกินลูกกินผลเหมือนตาล-มะพร้าว

ไม่ได้ปลูก “เอาร่าง” คือเอาต้นเอากิ่งก้านไปทำไม้ทำฟืน

ไม่ได้ปลูกไว้ “เอาร่ม” คือเอาไว้อาศัยร่มเงาบังแดด

แต่ปลูก “เอารูป” คือเอาไว้ดูต้นดูใบพอให้สบายตา

พอเดินเลยหน้าโรงพยาบาลเมืองราชไปได้หน่อยเดียว ผมก็เห็นทางปาล์มหล่นลงมาบนถนน ๒ ทาง

ใบตาลใบมะพร้าวพร้อมทั้งก้าน ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ทางตาล” “ทางมะพร้าว” ไม้ชนิดนี้จะมีก้านยาวแข็งเป็นส่วนที่ใบงอกออกมา โคนก้านจะเป็นกาบ ใบแก่จะหลุดจากต้นพร้อมทั้งก้านทั้งกาบ

เห็นได้ว่าทางปาล์มทั้งคู่นั้นได้มีผู้ลากหลบเข้าข้างถนนแล้ว แต่ยังอยู่บนถนน และกินที่บนถนนไปเกือบครึ่ง รถผ่านได้ แต่ต้องหลบ มิฉะนั้นจะทับลงไปบนทางปาล์ม

ผมเดินไปถึงก็จัดการลากทางปาล์มทั้งคู่ขึ้นบนทางเท้า เอาไปวางไว้ชิดด้านในเพื่อไม่ให้กีดทางคนเดิน

ได้บุญจรไปเรื่องหนึ่ง

————

เดินต่อไปอีกหน่อย เป็นสี่แยก เคยเรียกกันว่าแยกนิสสัน เพราะมีร้านขายรถนิสสันมาตั้งอยู่ตรงนั้น 

แยกนี้แหละที่คุณกอบกุล นพอมรบดี นักการเมืองชื่อดังของราชบุรีถูกยิงเสียชีวิตขณะรถติดไฟแดง 

คนก็เลยเรียกกันว่า “แยกกอบกุล”

จากหน้าโรงพยาบาลเมืองราชจะไปสี่แยกกอบกุล เป็นทางโค้ง ผมเจอทางมะพร้าวอีกทางหนึ่งขวางอยู่กลางถนน อยู่ในสภาพล่อนลุ่ยไปมากแล้วเพราะถูกรถทับ แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่บนถนน

พอรถว่าง ผมก็เข้าไปลากออกมาแล้วเอาไปวางไว้ที่โคนไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ลึกจากข้างถนนเข้าไป

ได้บุญจรไปอีกเรื่องหนึ่ง

————

เลยสี่แยกกอบกุลไปทางใต้ประมาณ ๒๐๐ เมตรจะเป็นสำนักงานไปรษณีย์เขต ๗

ก่อนถึงหน้าสำนักงานไปรษณีย์ฯ ผมเจอหนอนบุ้งสีดำตัวหนึ่งกำลังคืบคลานมุ่งหน้าจะข้ามถนน

ผมประมาณสถานการณ์ดูแล้ว ถ้าบุ้งตัวนี้คลานข้ามถนน โอกาสรอดเป็นศูนย์แน่ๆ เพราะรถที่พุ่งมาจากสี่แยกหนาแน่นมาก

ผมใช้วัสดุที่แสวงหาได้ในภูมิประเทศ (ผมได้คำนี้มาจากภาษาทหาร นย.สมัยไปอยู่นราธิวาส) เบี่ยงเบนทิศทางเดินของบุ้ง 

จนในที่สุดบุ้งตัวนั้นก็บ่ายหน้าลงข้างทางแทนที่จะข้ามถนน

ผมหวังว่ามันจะยังชีพอยู่ในบริเวณนั้นได้ต่อไปตามอายุขัย

เป็นบุญจรอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ทำในเช้าวันนี้

บุญทั้งหมดที่ผมทำเช้าวันนี้เป็นบุญติดดิน 

ทำได้ง่ายๆ ทำได้ทั่วไปถ้ามีใจคิดจะทำ

————

ผมเดินไปจนถึงแยกเจดีย์หักซึ่งกำลังสร้างสะพานข้ามถนน เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้ากลับบ้าน ก่อนถึงแยกต้นสำโรงจะมีศาลาโถงเก่าๆ อบต.เจดีย์หักใช้เป็นที่ปิดประกาศต่างๆ 

ผมเดินถึงศาลาก็เห็นภาพขนาดโปสต์การ์ดใบหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะเก่าๆ ที่ตั้งอยู่ในศาลานั้น

เป็นภาพที่ผมนำมาลงประกอบเรื่องวันนี้ดังที่ญาติมิตรได้เห็น

ผมเชื่อว่า ตามปกติภาพที่เป็นมงคลเช่นนี้ไม่ควรที่จะมีใครวางทิ้งไว้ในที่สาธารณะ

นี่คงเป็นรางวัลแห่งบุญที่ได้ทำในเช้าวันนี้-ที่เทวดาท่านประทานให้ผม

พระสงฆ์ในภาพ เห็นใบหน้าไม่ชัดเพราะภาพลอกเลือน แต่เข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ได้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพไปเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคมที่ผ่านมา

ผมไม่เคยมีภาพเช่นนี้มาก่อน จึงเอามาเก็บไว้ในตู้หนังสือซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังที่ผมนั่งทำงาน 

ภาพนี้จะมองเห็นผมทุกวัน 

และคงจะได้ประทานพรให้ผมทุกวันด้วย

ผมเรียกเอาเองว่า-ภาพเทพประทานพร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

๑๓:๔๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *