บาลีวันละคำ

มหาราช [1] (บาลีวันละคำ 1,308)

มหาราช [1]

อ่านว่า มะ-หา-ราด

ประกอบด้วย มหา + ราช

(๑) “มหา

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ, ขยายตัว) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก :

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

มหนฺต > มหา + ราช = มหาราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (great king)

มหาราช” บาลีอ่านว่า มะ-หา-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-ราด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหาราช : (คำนาม) คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์; ชื่อธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เรียกว่า ธงมหาราช; ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ.”

ควรทราบ :

ในภาษาบาลี คำว่า “มหาราช” ใช้เรียกทั้งพระราชาผู้ยิ่งใหญ่และพระราชาธรรมดา

โดยเฉพาะเมื่อบรรพชิตเรียกพระราชาในคำสนทนา นิยมใช้คำทัก (addressing) ว่า “มหาราช” เป็นเสมือนคำยกย่องตามวัฒนธรรมทางภาษา

———-

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

———-

: ตำแหน่งที่ได้มาเพราะผลงาน

: ยิ่งใหญ่กว่าผลงานที่ได้มาเพราะตำแหน่ง

28-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย