เจตนารมณ์ [2] (บาลีวันละคำ 1,509)
เจตนารมณ์ [2]
อ่านว่า เจด-ตะ-นา-รม
ประกอบด้วย เจตนา + อารมณ์
(๑) “เจตนา”
บาลีอ่านว่า เจ-ตะ-นา รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ จิ-(ตฺ) เป็น เอ (จิตฺ > เจต), แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จิตฺ > เจต + ยุ > อน = เจตน + อา = เจตนา แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจตนา : (คำกริยา) ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย. (คำนาม) ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย”
(ดูเพิ่มเติมที่ : “เจตนา” บาลีวันละคำ (704) 21-4-57)
(๒) “อารมณ์”
บาลีเป็น “อารมฺมณ” อ่านว่า อา-รำ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน มฺ, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น ที่ (อ)-น เป็น ณ
: อา + รมุ = อารม + ม = อารมฺม + ยุ > อน = อารมฺมน > อารมฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่มายินดี (แห่งจิตและเจตสิก)”
คำว่า “มายินดี” เป็นภาษาธรรม หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปจับหรือรับรู้ คือเมื่อจิตจับอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นที่ “มายินดี” ของจิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่น่ายินดี (ชอบ) ไม่น่ายินดี (ชัง) หรือเป็นกลางๆ (เฉย) ก็ตาม
“อารมฺมณ” หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ คือที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย และเรื่องที่จิตคิดนึก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อารมฺมณ” ในเชิง “ตีความ” ไว้ว่า –
(1) support, help, footing, expedient, anything to be depended upon as a means of achieving what is desired, basis of operation, chance (การสนับสนุน, การช่วยเหลือ, ที่มั่น, ความสะดวก, สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่พึ่งพิงได้เพื่อเป็นหนทางไปสู่เป้าหมาย, ฐานปฏิบัติการ, โอกาส)
(2) condition, ground, cause, means, a cause of desire or clinging to life (เงื่อนไข, พื้นฐาน, ต้นเหตุ, หนทาง, ต้นเหตุของความต้องการหรือความเกี่ยวเกาะอยู่กับชีวิต)
(3) a basis for the working of the mind & intellect (พื้นฐานสำหรับการทำงานของจิตและสติปัญญา. คือเมื่อจิตรับ “อารมฺมณ” เข้ามาแล้วก็ใช้สิ่งนั้นเป็นที่ทำงานต่อไป กล่าวคือชอบบ้าง ชังบ้าง เฉยบ้าง ตามแต่ระดับสติปัญญาจะพาไป)
“อารมฺมณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อารมณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) (คำนาม) สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู
(2) เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย
(3) ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย
(4) อัธยาศัย, ปรกตินิสัย, เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน
(5) ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์
(6) ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์
(7) (คำวิเศษณ์) มีอัธยาศัย, มีปรกตินิสัย, เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน
เจตนา + อารมฺมณ = เจตนารมฺมณ > เจตนารมณ์
พจน.54 บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“เจตนารมณ์ : (คำนาม) ความมุ่งหมาย.”
“เจตนารมณ์” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า intention
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล intention เป็นบาลีไว้ดังนี้ –
(1) parikappa ปริกปฺป (ปะ-ริ-กับ-ปะ) = ความคิดรอบด้าน
(2) adhippāya อธิปฺปาย (อะ-ทิบ-ปา-ยะ) = ความมุ่งหมาย, ความประสงค์
(3) sañcetanā สญฺเจตนา (สัน-เจ-ตะ-นา) = ความจงใจ, ความหมายใจไว้
“เจตนารมณ์” คือความหวังผลที่จะเกิดขึ้น คือคาดหวังว่าถ้าทำอย่างนี้ก็จะเกิดผลที่ต้องการอย่างนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง การกำหนดให้ปฏิบัติเช่นนี้ๆ ก็เพราะต้องการจะให้เกิดผลเช่นนั้นๆ ซึ่งในหลายๆ กรณี การกระทำโดยหวังผลอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้คาดหมายไว้ก็เป็นได้
มีเรื่องในชาดกเล่าว่า ช่างไม้ศีรษะล้านทำงานไม้อยู่กับลูกชาย ในระหว่างนั้นยุงกัดบนศีรษะพ่อ พ่อมือไม่ว่าง ขอให้ลูกช่วยตบยุง ลูกชายหวังดีตั้งใจจะฆ่ายุงให้ตายสนิท จึงคว้าขวานจามไปที่ตัวยุงเต็มแรง
ยุงบินหนีไปได้ แต่พ่อหัวแบะ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เจตนารมณ์ดีอย่างเดียวยังไม่พอ
: มองแค่เจตนาดี ก็ยังมีทางผิดพลาด
: ต้องมองเลยไปที่ฉลาดหรือไม่ฉลาดในวิธีการที่ทำ
22-7-59