บาลีวันละคำ

เตโชวิปัสสนา (บาลีวันละคำ 2,059)

เตโชวิปัสสนา

ศัพท์นอกตำรา

อ่านว่า เต-โช-วิ-ปัด-สะ-นา

ประกอบด้วย เตโช + วิปัสสนา

(๑) “เตโช

คำเดิมในบาลีเป็น “เตช” (เต-ชะ) รากศัพท์มาจาก ติชฺ (ธาตุ = ทำให้ร้อน, ลับให้คม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ติ-(ชฺ) เป็น เอ (ติชฺ > เตช)

: ติชฺ + = ติชณ > ติช > เตช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เผาภูตรูปและอุปาทายรูปให้มอดไหม้” หมายถึง ความร้อน, เปลวไฟ, ไฟ, แสงสว่าง; ความเปล่งปลั่ง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง, ความงดงาม, พลัง, ความแข็งแรง, อำนาจ (heat, flame, fire, light; radiance, effulgence, splendour, glory, energy, strength, power)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “เตช” แปลตามศัพท์ว่า “sharpness” (ความคม)

บาลี “เตช” ในภาษาไทยใช้เป็น “เดช” “เดชะ” และ “เดโช

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) เดช, เดชะ : (คำแบบ) (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).

(2) เดโช : (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).

โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่า “เดช” และ “เดชะ” เป็น “คำแบบ” คือ คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

แต่ที่เป็น “เดโช” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าเป็นคำแบบ

(๒) “วิปัสสนา

บาลีเขียน “วิปสฺสนา” (มีจุดใต้ ตัวแรก) อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-นา รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ทิสฺ (ธาตุ = เห็น), แปลง ทิสฺ เป็น ปสฺสฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วิ + ทิสฺ > ปสฺส = วิปสฺสฺ + ยุ > อน = วิปสฺสน + อา = วิปสฺสนา แปลตามศัพท์ว่า “ปัญญาที่เห็นสภาวะต่างๆ มีอนิจจลักษณะเป็นต้นในสังขาร” หมายถึง การเห็นแจ้ง, ความเห็นวิเศษ, ญาณพิเศษ, ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง (inward vision, insight, intuition, introspection)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิปัสสนา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

วิปัสสนา (Vipassanā) : insight; intuitive vision; introspection; contemplation; intuition; insight development.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิปัสสนา : (คำนาม) ความเห็นแจ้ง, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. (ป.).”

เตโช + วิปัสสนา = เตโชวิปัสสนา

เตโชวิปัสสนา” เป็นชื่อหลักวิชาของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งใช้ชื่อสำนักว่า “เตโชวิปัสสนาสถาน”

หลักฐานแห่งหนึ่งอธิบายความหมายของคำว่า “เตโชวิปัสสนา” ไว้ดังนี้ –

……..

ใครที่ยังไม่เข้าใจว่าเตโชวิปัสสนาคืออะไร

ขอคัดลอกถ้อยแถลงของท่านอาจารย์มาให้อ่านดังนี้

เตโชวิปัสสนากรรมฐาน มาจากคำว่า เตโช+วิปัสสนากรรมฐาน คือหลักการปฏิบัติวิปัสสนาด้วยวิธีการจุดธาตุไฟในกายมาเผากิเลส โดยการเพ่งที่ฝ่ามืออย่างถูกต้อง อันเป็นวิธีทางลัดตัดตรงสู่นิพพาน ตามหลักสติปัฏฐานสี่ – พึงมีความเพียรเผากิเลส ซึ่งหลักปฏิบัติไม่เคยมีใครได้รู้วิธีการมาก่อน พระอาจารย์สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังษี ได้สื่อจิตมาสอนอาจารย์อัจฉราวดีในปี 2550 จนได้เข้าถึงมรรคผล ชั้นสูงอย่างรวดเร็ว

……..

ในคัมภีร์ไม่มีศัพท์ “เตโชวิปสฺสนา” (เตโชวิปัสสนา) แต่มีศัพท์ “วิปสฺสนาเตโช” เป็นคำอธิบายความหมายของศัพท์ว่า “ปญฺญาเตโช” ซึ่งแปลว่า “เดชคือปัญญา” โดยอธิบายว่า “ปญฺญาเตโช” ก็คือ “วิปสฺสนาเตโช

คำว่า “เตโช” ในที่นี้ท่านหมายถึง “ธรรมเป็นเครื่องเผาสิ่งเป็นข้าศึก” (ปฏิปกฺขตาปน)

โดยนัยนี้ “วิปสฺสนาเตโช” จึงแปลว่า “เดชคือวิปัสสนา” ซึ่งหมายถึงตัวปัญญาอันทำหน้าที่เผาความโง่เขลาเบาปัญญาให้มอดไหม้หมดสิ้นไป

ท่านว่า “วิปสฺสนาเตโช” จะตั้งมั่นได้ต้องอาศัยศีลเป็นฐานแห่งสมาธิ และสมาธิเป็นฐานแห่งปัญญา อันเป็นหลักการที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” อันเป็นทางดำเนินสู่พระนฤพาน

ที่มา: สัทธัมมปกาสินี (อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค) ภาค 1 หน้า 526

วิปสฺสนาเตโช” ไม่เกี่ยวกับการใช้เตโชธาตุเผากิเลส

และการใช้เตโชธาตุเผากิเลสก็ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา

สรุปว่า “เตโชวิปสฺสนา” (เตโชวิปัสสนา) ไม่มีในคัมภีร์ และไม่มีในคำสอนของพระพุทธศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงเผากิเลสด้วยหลักไตรสิกขา

: ไปนิพพานในพระพุทธศาสนาไม่มีทางลัด

#บาลีวันละคำ (2,059)

31-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย