ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน
เมื่อวันก่อนผมเห็นโพสต์ของท่านผู้หนึ่งทางเฟซบุ๊ก ยกข้อความข้างล่างนี้มาโพสต์
……………..
“ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น
แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น”
……………..
ผมไม่ทันได้บันทึกภาพข้อความนั้นไว้ จึงเอาภาพโพสต์จริงมาให้ดูไม่ได้ แต่ข้อความเป็นอย่างที่ยกมา
โพสต์นั้นมีเฉพาะข้อความนี้เท่านั้น ไม่มีคำขึ้นต้นลงท้ายใดๆ อีก
เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นการขอโอกาสอธิบายเรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
เท้าความนิดหนึ่ง เผื่อใครลืม
มีผู้เขียนข้อความที่เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์แล้วเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย และมีผู้ส่งต่อข้อความนั้นแพร่กระจายออกไป
ข้อความที่เผยแพร่ไปนั้นมีดังนี้ –
……………..
“…พระพุทธเจ้ากล่าวกับพระอานนท์ ช่วงที่เกิดโรคห่า ในขณะที่พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย พระอานนท์ถามพระองค์ว่าไม่กลัวติดเชื้อหรือ พระองค์กล่าวว่า “อานนท์ ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น…”
……………..
ข้อความนี้มีผู้ทักท้วงหลายจุด กล่าวคือ
๑ คำว่า “ช่วงที่เกิดโรคห่า” ไม่ชัดเจนว่าเกิดโรคห่าขึ้นที่เมืองไหน
เหตุการณ์ที่อาจตรงกับข้อความที่กล่าวนี้ก็น่าจะเป็นคราวที่เมืองเวสาลีเกิดภัยจากความอดอยาก ภัยจากอมนุษย์ และภัยจากโรคระบาด (ตีหิ ทุพฺภิกฺขอมนุสฺสโรคภเยหิ อุปทฺทุตา = ชาวเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง คือทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัย-ปรมตฺถโชติกา ขุทฺทกปาฐวณฺณนา หน้า ๒๑๕)
เหตุการณ์ครั้งนี้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ภัยจึงสงบไป
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ “พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย” และในเหตุการณ์ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสข้อความตามที่อ้าง
๒ คำว่า “พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย” มีเรื่องบันทึกไว้ในคัมภีร์ ๒ ครั้ง แต่ไม่เกี่ยวกับเกิดโรคห่า และการที่ “พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย” ก็ไม่ได้ตรัสข้อความตามที่อ้าง
๓ ข้อความตามที่อ้างว่า “อานนท์ ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น…” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์อะไร บอกที่มาไม่ได้
หรือแม้จะบอกที่มาได้ว่าตรัสไว้ที่พระสูตรนั้นคัมภีร์นั้น ก็ยังต้องดูรายละเอียดอีกว่ามีเหตุการณ์เกิดโรคห่า หรือมีเรื่อง “พระองค์ไปปฐมพยาบาลพระที่ป่วย” อยู่ในเรื่องนั้นด้วยหรือเปล่า หรือว่าตรัสในโอกาสอื่น ไม่เกี่ยวกับโรคห่า ไม่เกี่ยวกับพยาบาลพระป่วย
ข้อพิรุธดังกล่าวมานี้แหละเป็นเหตุให้มีผู้ทักท้วง
ขออนุญาตย้ำเตือนว่า ยึดหลักการกันไว้หน่อยนะครับ
หลักการก็คือ จะยกเรื่องราวเหตุการณ์ คำตรัสใดๆ มาอ้าง ต้องสอดคล้องกัน คือเป็นไปตามที่คัมภีร์บันทึกไว้ ไม่ใช่จับแพะชนแกะมั่วไปหมด
ที่เรียกร้องขอให้แสดง “ที่มา” (reference, primary sources) ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า พระธรรมวินัยคือหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาจะถูกตรงแม่นยำตามที่นำสืบกันมา ไม่สับสนพร่ามัวไปด้วยสิ่งแปลกปลอม
หลักของการศึกษาคือ ยกต้นฉบับมาก่อน เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้ามีแหล่งรวมที่ชัดเจนแน่นอน คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาลดหลั่นกันลงไป
ศึกษาตามต้นฉบับให้เข้าใจชัดเจนก่อน
ต่อจากนั้น เราคิดอย่างไรเห็นอย่างไร เป็นสิทธิเสรีภาพของเรา
แต่ว่าโดยมารยาทแล้ว เมื่อเข้ามาอยู่ในพระศาสนาของท่าน ก็สมควรที่จะเห็นตามเห็นตรงตามที่ท่านตรัสไว้
สมัยพุทธกาล เมื่อเจอนักบวช เขาถามกันว่า “ท่านชอบใจธรรมะของใคร”
นั่นแปลว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในศาสนาของใครก็คือชอบใจคำสอนของท่านผู้นั้น
ไม่ชอบใจก็อย่าเข้าไป
เข้าไปแล้ว เกิดไม่ชอบใจขึ้นมา ก็ลาออกมา
เป็นการปฏิบัติที่ซื่อตรง ตรงไปตรงมา
เวลานี้เกิดวิปริตตรงที่-เข้าไปแล้ว แทนที่จะศึกษาคำสอนของท่านให้เข้าใจ กลับไปแสดงคำสอนของตัวเองแทรกแฝงอยู่ในคำสอนของท่าน
เกิดเป็นความสับสนว่า อะไรเป็นคำสอนของท่าน อะไรเป็นสิ่งที่แทรกแฝงเข้าไป
หนักเข้า นานเข้า ก็กลายเป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง คืออยู่ในพระพุทธศาสนา แต่บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างไรฉันไม่สนใจ แต่ฉันชอบคำสอนของท่านผู้นี้ ฉันว่านี่แหละใช่เลย
ในที่สุดคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะเป็นเหมือน “กลองอานกะ” (-อา-นะ-กะ)
ว่ากันว่ากลองอานกะนั้นตัวกลองทำด้วยกระดองปู
ครั้นนานมามีการซ่อมตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง เนื้อเก่าหายไป เนื้อใหม่เข้ามาแทน จนในที่สุดไม่เหลือกระดองปู
รูปร่างยังเป็นกลองใบเดิม แต่ตัวกลองกลายเป็นอีกใบหนึ่ง
อยากรู้รายละเอียด เชิญศึกษาได้ที่พระสูตรชื่ออาณิสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๖๗๒-๖๗๓
…………………
ผมเข้าใจว่าท่านที่ยกข้อความที่อ้างว่าเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาอ้าง …
“ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น
แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น”
ท่านคงชอบใจธรรมะข้อนี้ แม้จะรู้ว่าไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังชอบอยู่ ซึ่งก็เป็นสิทธิเสรีภาพของท่าน
…………………
มีญาติมิตรท่านหนึ่งอธิบายแบบพยายามจะเห็นใจคนเขียนว่า ในท่ามกลางความวิตกกังวลหวาดหวั่นพรั่นพรึง และพยายามจะเอาตัวรอดจากโรคระบาดกันอย่างอลหม่านนั้น คนเขียนคงต้องการจะเตือนสติพวกเราว่า ยังมีวิธีคิดอีกตั้งหลายวิธี
หนึ่งในนั้นก็คือ คิดตามแนวหลัก “กรรม” นั่นไง
“ถ้าไม่ใช่กรรมที่เราทำมา เราก็จะไม่ได้รับกรรมนั้น”
จะต้องไปกลัวหรือวิตกกังวลทำไม ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมไว้ โรคมันก็ทำอะไรเราไม่ได้
“แต่ถ้าเราทำมา หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น”
ต่อให้ระวังป้องกันดีเลิศขนาดไหน ถ้าเราทำกรรมไว้ ก็ช่วยอะไรไม่ได้
คนเขียนต้องการจะเตือนสติอย่างนี้-ใช่หรือไม่?
ถามว่า ถ้ามีเจตนาต้องการจะเตือนสติอย่างนี้ การเขียนข้อความเช่นโน้นออกมาจะมีความผิดอะไรหรือ? เป็นการเตือนสติกันด้วยเจตนาดี ทำไมจะต้องมารุมตำหนิกันด้วยเล่า?
ถ้าท่านผู้เป็นต้นเรื่องเขียนข้อความนั้นชี้แจงอย่างนี้ เราจะว่าอย่างไรกัน
ถ้าถามผม ผมก็จะตอบว่า ถ้าต้องการจะเตือนสติสังคม ก็บอกไปตรงๆ แบบนั้นได้เลย เป็นแนวคิดที่น่ารับฟังดีด้วยซ้ำไป (แม้ว่าจะไม่ตรงกับหลักกรรมในพระพุทธศาสนา)
แต่ทำไมต้องเอาไปใส่ปากพระพุทธเจ้า?
ตรงนี้ต่างหากที่ควรมีคำอธิบาย
…………………
ว่ากันจริงๆ แล้วผมยังเอาใจช่วยท่านผู้เป็นต้นเรื่องเขียนข้อความนั้น คืออยากให้ท่านอ่านพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาแล้วก็ไปเจอคำตรัสของพระพุทธเจ้าตามที่ยกมาอ้างนั้นจริงๆ
จะกราบอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราก็ยังสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เสมอ นั่นคือ ขอให้กรณีนี้เป็นเครื่องเตือนสติว่า ในการศึกษาพระธรรมวินัยนั้นโปรดช่วยกันระลึกและยึดถือเป็นหลักการไว้เสมอว่า –
ต้นน้ำต้นทางของเราอยู่ที่พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา ไปให้ถึงนั่น ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันที่นั่นก่อน
ต่อจากนั้น จะชอบใจธรรมะของใครค่อยว่ากันอีกที
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓
……………………………………………
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันก่อน