แด่ท่านผู้จะได้รับกุญแจวิเศษคล้องคอ
แด่ท่านผู้จะได้รับกุญแจวิเศษคล้องคอ
———————————
ระหว่างวันที่ ๒๒ ถึง ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ คณะสงฆ์ท่านมีงานตรวจข้อสอบบาลี
โปรดทราบว่า สอบนักธรรม สอบบาลี ตรวจข้อสอบ คณะสงฆ์ท่านกำหนดวันเป็นวันทางจันทรคตินะครับ
คือกำหนดวันขึ้น-แรม เดือนไทยเป็นหลัก
ไม่ได้ใช้วันที่ เดือนมกรา-กุมภาเป็นหลัก
สมัยผมเป็นเณร หลวงลุงบอกให้จำไว้ว่า วันเริ่มสอบนักธรรม คือ “เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ” ผมก็จำอย่างนั้นมาตลอด
ต่อมา จะเป็นตั้งแต่ปีไหนก็จำไม่ได้ ท่านก็เปลี่ยนวันเริ่มสอบนักธรรมจาก “เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ” เป็น “เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ” คือร่นเข้ามาอีกเดือนหนึ่ง
ตอนนี้ผมก็ต้องเปลี่ยนข้อมูลความจำใหม่เป็น-วันเริ่มสอบนักธรรมคือ “เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ” และบอกญาติทางปากท่อให้ช่วยกันจำไว้ด้วย เพราะประเพณีทำอาหารไปเลี้ยงพระที่มาสอบนักธรรมทุกปี รวมทั้งพระที่มาสอบบาลีด้วย จะเป็นมรดกประจำตระกูลของเราต่อไป
วันสอบบาลีกำหนดเป็น ๒ ครั้ง
ครั้งแรก สอบประโยค ป.ธ.๖-๗-๘-๙ เริ่มสอบ “ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓”
ครั้งที่ ๒ สอบประโยค ๑-๒ และประโยค ป.ธ.๓-๔-๕ เริ่มสอบ “แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓”
วันตรวจข้อสอบบาลี ท่านก็กำหนดเป็น “แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔” ใช้เวลา ๕ วัน ไปเสร็จและประกาศผลสอบแรม ๖ ค่ำ
คณะสงฆ์กำหนดวันทำกิจต่างๆ เป็นวันขึ้น-แรม คือวันทางจันทรคติก็เพราะวันสำคัญและวันทำกิจพิเศษในพระพุทธศาสนาท่านกำหนดด้วยวันทางจันทรคติทั้งสิ้น
การกำหนดวันทำกิจต่างๆ เป็นวันขึ้น-แรม จึงมีความเหมาะสม เป็นการรักษาแบบธรรมเนียมและหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคง
………………..
จำได้ไหมครับ-กรณีวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์
มาฆบูชากำหนดด้วยวันทางจันทรคติ คือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตายตัว (ยกเว้นปีที่มีอธิกมาส เลื่อนเป็นเดือน ๔)
วันวาเลนไทน์ คือ ๑๔ กุมภาพันธ์ ตายตัวเช่นกัน
บางปีวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์ใกล้กัน มีบางปีเป็นวันเดียวกันเลย คือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์
จึงมีอยู่คราวหนึ่งหรือช่วงเวลาหนึ่งที่นักอธิบายธรรมะของเราพากันอธิบาย “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันมาฆบูชาให้มีความหมายเป็น “ธรรมะแห่งความรัก” เพื่อให้สอดคล้องกับวันวาเลนไทน์
เวลานี้ก็ยังมีคนพยายามอธิบายแบบนั้นอยู่
เป็นการละลายสมบัติของตัวเองให้กลายเป็นของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว
ผมไม่แน่ใจว่าผู้บริหารการพระศาสนาของเรายังจะมั่นคงในหลักการของตัวเองไปได้อีกนานแค่ไหน
อย่าแปลกใจนะครับ-ถ้าในอนาคต วันสอบนักธรรม สอบบาลี วันตรวจข้อสอบ กำหนดเป็นวันที่-ตามชาวโลกเขา-อ้างความเหมาะสมนั่นนี่โน่น
ตลอดจน-ต่อไป วันพระก็เปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ วันทำอุโบสถสังฆกรรมก็เปลี่ยนเป็นวันอาทิตย์ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้สูงมาก เพราะเราพร้อมที่จะทิ้งหลักการของตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว
——————
ขอเข้าประเด็นที่ตั้งใจพูดต่อไปครับ
ประเด็นที่ตั้งใจพูดคือผลการสอบบาลี
อีกวันสองวันนี้ พระเณรจะได้เฮกันอีกปีหนึ่ง โดยเฉพาะประโยคบาลีสูงสุดคือ ป.ธ.๙ รวมไปถึง บ.ศ.๙ ด้วย
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามเณรที่สอบประโยค ป.ธ.๙ ได้
ญาติโยมทั้งหลายก็จะ (ถูกทำให้) ชื่นชมยินดีปรีดากันทั่วหน้า
สื่อทั้งหลายก็จะประโคมข่าวคึกคักไปอีกพักใหญ่
เราวัดความสำเร็จกันที่การสอบได้
ซึ่งผมพยายามบอกมานานแล้วว่า-ถ้าวัดกันแค่นั้น ก็คือเราหลงทาง
การสอบได้ไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลี
ใช่-การสอบได้เป็นเป้าหมาย
แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกต้อง
บางท่านประกาศด้วยความภาคภูมิใจเมื่อสอบ ป.ธ.๙ ได้ว่า “ผมปารคูแล้ว”
“ปารคู” อ่านว่า ปา-ระ-คู แปลเป็นไทยว่า “ผู้ถึงฝั่ง” เอามาพูดในความหมายที่เข้าใจเอาเองว่า “บรรลุความสำเร็จ”
ผมขอให้ทำความเข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูก ให้ตรง ว่า การสอบ ป.ธ.๙ ได้ ไม่ใช่ความสำเร็จที่ถูกต้องของการเรียนบาลี
ความสำเร็จที่ถูกต้องของการเรียนบาลีคือ การใช้ความรู้ทางภาษาบาลีที่ได้เรียนมาไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ในสายให้รู้เข้าใจถูกต้อง แล้วนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง และเผยแพร่ให้ผู้อื่นรู้ด้วย เข้าใจด้วย ปฏิบัติตามด้วย สืบต่อกันไป –
นี่คือเป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลี
ทำไมจึงว่าอย่างนี้
ถอยไปตั้งหลักคิดครับ
หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัย
พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้จะเป็นพระศาสดาของพวกเราแทนพระองค์
“พระธรรมวินัย” ที่ตรัสถึงนี้ท่านรวบรวมไว้ในคัมภีร์ที่รู้จักกันในชื่อ “พระไตรปิฎก”
พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาท-อย่างที่นับถือกันในเมืองไทยและเมืองอื่นๆ ท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี
พูดแค่นี้ก็เห็นได้แล้วใช่ไหมว่า เราเรียนภาษาบาลีกันทำไม
………………..
เราเรียนภาษาบาลีก็เพื่อที่จะได้มีเครื่องมือสำหรับไปศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย อันเป็นตัวพระศาสนา อันเป็นองค์พระศาสดาของพวกเรา เพื่อจะได้รู้เข้าใจถูกต้องว่าพระศาสดาตรัสสอนอะไร สอนอย่างไร เพื่อจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องว่าอะไรที่พระศาสดาตรัสสอน และอะไรที่พระศาสดาไม่ได้ตรัสสอน (แต่มีผู้เอามาสอนเอามาปฏิบัติ)
………………..
พระศาสนาจะยั่งยืนสืบไปได้ก็เพราะมีผู้เข้าใจคำสอนที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
จะเข้าใจคำสอนที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัย
จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถึงราก ก็ต้องเรียนบาลี
การเรียนบาลีก็คือการหาเครื่องมือ เตรียมเครื่องมือเพื่อนำไปเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย
เป้าหมายที่ถูกต้องจึงอยู่ที่ตรงนี้-ตรงที่เอาไปศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย
การสอบได้ก็ดี การได้รับสิทธิต่างๆ ตามมาก็ดี ตลอดจนเกียรติยศชื่อเสียงอื่นๆ ก็ดี เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรแก่การอนุโมทนา
และผมขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ด้วยความจริงใจ
แต่โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า นี่ไม่ใช่เป้าหมาย
ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเพียงผลตามรายทางเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง
ใครถือว่าเป็นเป้าหมาย นั่นคือกำลังหลงทาง
——————
เรียนบาลีแล้ว มีความรู้แล้ว สอบได้แล้ว เหมือนได้รับมอบกุญแจวิเศษไขตู้พระไตรปิฎก
เท่าที่ผ่านและกำลังเป็นอยู่ ผู้เรียนบาลีตั้งเป้าหมายไว้ที่-จะได้รับมอบกุญแจวิเศษนี้
มองแค่นี้ เห็นแค่นี้
เมื่อได้กุญแจวิเศษมาแล้วจึงได้แต่เอาแขวนคอไว้ แล้วบอกกัน ชื่นชมกันว่า-ฉันมีกุญแจวิเศษคล้องคอแล้วนะ
สังคมก็พากันชื่นชมว่า ท่านผู้นี้มีกุญแจวิเศษคล้องคอแล้วนะ
………………..
เรียนหมอ จบหมอ แต่ไม่รักษาโรค
ย่อมไร้ประโยชน์ ฉันใด
เรียนบาลี จบบาลี แต่ไม่ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย
ก็ไร้ประโยชน์ ฉันนั้น
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒
๑๑:๒๒
…………………………….