ขมา (บาลีวันละคำ 2,806)
ขมา
อ่านง่าย แต่ทำยาก
อ่านว่า ขะ-มา
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ขม” (ขะ-มะ) รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + อ (อะ) ปัจจัย
: ขมฺ + อ = ขม แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาพึงทนได้”
“ขม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) อดทน, ให้อภัย (patient, forgiving)
(2) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ [ความหนาวและความร้อน], เหมาะแก่ (enduring, bearing, hardened to [frost & heat, e. g.], fit for)
“ขม” (ขะ-มะ) ในบาลี ถ้า + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ขมา” (ขะ-มา) ใช้เป็นคำนาม มีความหมายดังนี้ –
(1) ความอดทน, ความทนทาน (patience, endurance)
(2) แผ่นดิน (the earth)
บาลี “ขม” สันสกฤตเป็น “กฺษม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“กฺษม : (คำวิเศษณ์) มีความเพียร, มีความอดกลั้น; งดเว้น; สามารถ; มีความกรุณา; สมควร, เหมาะ; patient, enduring; forbearing or refraining from; adequate or able, suitable, fit;– (คำนาม) ความเพียร; โลก; ราตรีกาล; นามพระทุรคา; ความเหมาะ; patience; the earth; night; a name of Duragā; propriety or fitness.”
บาลี “ขม” ในภาษาไทยใช้เป็น “ขมา” (ขะ-มา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ขมา : (คำกริยา) กล่าวคําขอโทษ เช่น ไปขมาศพ.น. การยกโทษให้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด เช่น ขอขมา, ษมา ก็ใช้. (ป.; ส. กฺษมา).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“ขมา : (คำนาม) ความอดกลั้นไม่ถือโทษ; การยกโทษให้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด เช่น รับขมา. (คำกริยา) กล่าวคำขอโทษ เช่น ไปขมาศพ, ษมา ก็ใช้. (ป.; ส. กฺษมา).”
อภิปราย :
ดูความหมายของ “ขม” (ขะ-มะ) ในบาลี คือ อดทน, ให้อภัย; อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อความหนาวร้อน และ “ขมา” (ขะ-มา) คือ ความอดทน, ความทนทาน จะเห็นว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ต้องผจญงาน หรือประสบสิ่งไม่น่าพอใจ หรือถูกกระทำให้เจ็บใจ นอกจากต้องอดทนอดกลั้นแล้วยังต้องให้อภัยได้ด้วย
“ขมา” ที่หมายถึง แผ่นดิน ยังสื่อความหมายเชิงปริศนาธรรมอีกด้วย นั่นคือ เมื่อต้องอดทนก็ต้องพยายามฝึกใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ใครจะทิ้งของหอมหรือเทของเหม็นลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็วางเฉยได้เสมอ
แต่ในภาษาไทย “ขมา” มีความหมายหนักไปที่-เมื่อทำผิดแล้วรู้ว่าผิดก็มีจิตสำนึก ยอมขอโทษ และกระทำความดีเป็นการแก้ตัว มิใช่ขอโทษแต่ปาก
ดูเพิ่มเติม: “ขอขมา” บาลีวันละคำ (656) 4-3-57
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การยอมรับว่าทำผิด
: คือการเริ่มต้นทำถูก
#บาลีวันละคำ (2,806)
17-2-63