บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำไมพระพุทธศาสนาจึงสูญสิ้นไปจากประเทศไทย

ทำไมพระพุทธศาสนาจึงสูญสิ้นไปจากประเทศไทย

————————————————–

เมื่อวันพระที่ผ่านมา (๑ กันยายน ๒๕๕๙, แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙) ผมไปทำบุญที่วัดตามปกติ 

……………

(๑):

วันพระนี้คุณครูนำเด็กชั้นอนุบาลของโรงเรียนเทศบาล ๔ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตวัดมาร่วมทำบุญด้วย

ตั้งแต่เข้าพรรษามา ครูพาเด็กมาร่วมทำบุญวันพระหลายวันพระแล้ว ถ้าไม่ใช่นโยบายของผู้บริหารก็คงจะเป็นคำแนะนำของหลวงพ่อ

แต่สังเกตเห็นว่า เด็กที่พามาเป็นเด็กชั้นอนุบาลกับชั้นประถมต้นเท่านั้น ชั้นสูงกว่านี้ไม่มีมา

เมื่อสัก ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ครูโรงเรียนเทศบาล ๔ ท่านหนึ่งก็เคยพาเด็กหมุนเวียนห้องมาทำบุญวันพระ ตัวครูท่านนั้นวันพระก็ถืออุโบสถศีลค้างวัดด้วย 

แต่พอท่านเกษียณ การพานักเรียนมาทำบุญวันพระก็เกษียณตามไปด้วย

……………

เสร็จการพิธีที่ศาลาการเปรียญแล้วผมก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกรณีพิเศษในพระระเบียงคดพระมหาธาตุตามแบบของผมเช่นเคย

……………

(๒):

วันนี้มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาในพระระเบียง มากันเป็นคณะใหญ่ราวๆ ๓๐ คน เข้าใจว่าจะเป็นนักเรียนมาทัศนศึกษาเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรหรืออะไรสักอย่าง ไม่ได้แต่งชุดนักเรียน แต่พอเดาได้ ถ้าไม่ใช่ ก็คงเป็นเด็กหนุ่มสาวที่ทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรร่วมกันนัดกันมาเที่ยว 

และก็เช่นที่เคยเป็นมา ทุกคนสวมรองเท้าเข้าในลานประทักษิณ สวมรองเท้าเดินไปบนลานประทักษิณ ที่มีหมวกก็สวมหมวก สะพายกระเป๋า ครบเครื่อง ขาดแต่ยังไม่เห็นกางร่ม ส่วนใหญ่เข้ามาถ่ายรูป ที่จุดธูปเทียนไหว้พระก็มีบ้าง แต่น้อย

……………

(๓):

ก่อนหน้านั้นมีคณะพระคุณเจ้าหลายรูปจากต่างวัดพร้อมกับญาติโยม ๓-๔ คน เข้ามา – และก็เช่นเดียวกัน พระคุณเจ้าก็เข้ามาถ่ายรูป ญาติโยมก็เพลินกับการถ่ายรูป

แต่คณะพระคุณเจ้ากับโยมดังกล่าวนี้ก็ยังมีที่ทำให้ต้องยกมืออนุโมทนาอยู่บ้าง คือ –

พระคุณเจ้ารูปหนึ่งถอดรองเท้าเข้ามาในพระระเบียง (รูปอื่นๆ สวมเข้ามา) แล้วก็นั่งคุกเข่าลงบนพื้นลานประทักษิณ หันหน้าเข้าหาองค์พระมหาธาตุ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงลุกขึ้นเดินดูรอบๆ

โยมผู้หญิงคนหนึ่งเดินประทักษิณสามรอบก่อนจะกลับออกไป

อนุโมทนาสาธุ

——————

ผมนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าไปพลาง คิดคำนึงถึงเรื่องทั้ง ๓ เรื่องไปพลาง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงสูญสิ้นไปจากประเทศไทย

สาเหตุสำคัญที่พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากประเทศไทยก็คือ เด็กไทยไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องพระพุทธศาสนา

ขอได้โปรดพิจารณาดูเถิดว่า เด็กไทยที่อยู่ในวัยเรียน ณ วันนี้ มีโอกาสเรียนพระพุทธศาสนาตอนไหนบ้างหรือไม่

คำตอบคือ ไม่มี

วิชาการทั้งหลายที่เรียนกันในโรงเรียนตามหลักสูตรทุกวันนี้ไม่มีวิชาพระพุทธศาสนาโดยตรง 

หมายความว่า ไม่มีวิชาใดที่กำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรให้เด็กได้เรียนและเมื่อผ่านหลักสูตรนี้แล้วเด็กจะรู้จักพระพุทธศาสนา เข้าใจหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา และสามารถปฏิบัติตามหลักคำสอนตามวัยของตนได้ตามสมควร เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็พร้อมที่จะชาวพุทธที่ดี เป็นกำลังพิทักษ์ ปกป้อง และสืบทอดพระพุทธศาสนาไปยังคนรุ่นต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

เด็กชั้นอนุบาลและประถมต้นที่คุณครูพามาทำบุญเป็นกรณีศึกษาที่ดี 

กิจกรรมแบบนี้ตรงกับแนวทางของคนรุ่นเก่าที่ปฏิบัติกันมา คือไปทำบุญที่วัดก็พาลูกพาหลานไปด้วย เป็นการช่วยให้เด็กได้รับการถ่ายทอดปลูกฝังบรรยากาศของวัด ของพระพุทธศาสนาไปตั้งแต่อายุยังน้อยๆ

…………..

หลวงพ่อที่วัดท่านพูดเสมอว่า เด็กเล็กๆ มาวัด ไม่ต้องไปคาดหวังว่าเขาจะเข้าใจอะไรมากมาย ขอเพียงให้เขาได้มาเห็น มาดูสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกัน ต่อจากนั้นเขาจะไปวิ่งเล่นซุกซนอะไรบ้างตามประสาเด็กก็ไม่ต้องว่าอะไรมาก ให้เขาได้เห็นช่อฟ้าหลังคาโบสถ์ เห็นกุฏิวิหารลานพระเจดีย์ เห็นพระสวดมนต์ สิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าไปในจิตใจของเขา และตลอดเวลาที่เขาค่อยๆ เติบโตขึ้น ถ้าเขามีโอกาสเติมความรู้ความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่เขาจะรักวัด รักพระศาสนา เขาจะหวงแหน ปกป้อง และทะนุบำรุง นั่นคือเขาจะเป็นชาวพุทธที่ดีที่สังคมต้องการ

…………..

เด็กผู้ชายที่นั่งข้างๆ ผม พอมาถึงก็นั่งขัดสมาธิ เด็กๆ จะนั่งขัดสมาธิกันเป็นส่วนมาก รวมทั้งเด็กผู้หญิงด้วย เข้าใจว่าที่โรงเรียนคุณครูอาจจะยังไม่ได้อบรมเรื่องมารยาทในการไปวัด

ไปทำบุญที่วัดผมนั่งกับพื้นตามแบบที่เคยเห็นคนรุ่นก่อนท่านประพฤติกันมาและตัวเองก็ทำเช่นนั้นเสมอมา 

สังเกตเห็นว่า เดี๋ยวนี้คนที่นั่งกับพื้นมีน้อยกว่าที่นั่งเก้าอี้ 

เหตุผลที่นั่งเก้าอี้ที่มักจะอ้างกันก็คือสุขภาพขาและเข่าไม่ดี ลุกนั่งลำบาก นั่งนานก็ไม่ได้ นั่งเก้าอี้สะดวกสบายกว่า

ผมนึกถึงคนรุ่นเก่าสมัยที่ผมเป็นเด็กวัด ไม่ว่าจะอายุมากขนาดไหน นั่งกับพื้นกันทั้งนั้น ไม่มีใครอ้างสุขภาพไม่ดีเหมือนสมัยนี้ 

สมัยนี้การแพทย์การอนามัยเจริญ แต่สุขภาพขาและเข่าของผู้คนกลับเสื่อมลง ชอบกลจริงๆ

…………..

ผมมองเด็กนั่งขัดสมาธิ แล้วผมก็ชี้มาที่ตัวผมเองซึ่งนั่งพับเพียบ ทำกิริยาบอกใบ้ให้เขารู้ว่า ขอให้นั่งพับเพียบแบบนี้

เด็กน้อยมองหน้าผม พยักหน้า แล้วขยับตัว พลิกขาอย่างทุลักทุเล แล้วก็นั่งพับเพียบจนได้ 

เขานั่งพับเพียบแบบเก้งก้างตั้งแต่ผมเริ่มนำบูชาพระ เรื่อยไปจนพระขึ้นบทพาหุง ผมบอกคุณครูที่คุมเด็กมาให้บอกเด็กลุกขึ้นไปใส่บาตร เด็กคนเดิมใส่บาตรเสร็จแล้วมานั่งที่เดิม คราวนี้เขานั่งพับเพียบเอง ไม่ต้องมีใครบอก แม้จะยังเก้งก้างอยู่ แต่ก็นั่งพับเพียบไปจนหลวงพ่อกล่าวสัมโมทนียกถาจบ ยถา-สัพพี เสร็จพิธี

เด็กพร้อมที่จะรับการอบรมถ่ายทอดสิ่งที่ดีงาม โดยไม่ต้องพูดอะไรเลยสักคำเดียว

แต่เด็กคนนี้ กลุ่มนี้ ชั้นนี้ โรงเรียนนี้ จะได้มาร่วมพิธีทำบุญวันพระอีกหรือเปล่า จะมาได้อีกสักกี่ครั้ง?

แล้วเด็กคนอื่น กลุ่มอื่น ชั้นอื่น โรงเรียนนี้ และโรงเรียนอื่นๆ ล่ะ จะมีใครอบรมถ่ายทอดวัฒนธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้แก่พวกเขา?

ดูจากกลุ่มวัยรุ่นที่ผมเล่าในตอนที่ ๒ ก็พอจะเดาได้ นั่นคือ เขาไม่เคยได้รับการอบรมถ่ายทอดวัฒนธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาจากที่ไหนเลย

แล้วดูเลยไปจนถึงพระสงฆ์ตามที่เล่าในตอนที่ ๓ ก็ชวนให้สงสัยว่า แม้แต่ในวัดเองก็เถอะ เดี๋ยวนี้ยังมีกิจกรรมกิจวัตรอบรมถ่ายทอดวัฒนธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากันมั่งหรือเปล่า

ผมไปเดินออกกำลังตอนเช้า แวะเข้าไปหยอดตู้บริจาคที่วิหารในวัดแห่งหนึ่ง สามเณรที่ดูแลวิหารกำลังนั่งเล่นเกมจากโทรศัพท์ในเวลาที่ควรจะออกไปบิณฑบาต

ผมเคยนมัสการถามท่านเจ้าอาวาสว่าทำไมสามเณรไม่ออกบิณฑบาต ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ให้คอยดูแลเปิดวิหาร เช้าๆ มีคนมาตลาดขึ้นมาไหว้พระมาก (วัดนี้มีตลาดสดตอนเช้า) ไปเข้มงวดมากเดี๋ยวไม่มีใครมาบวช!

ก็เลยได้ความรู้ใหม่ว่า การบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรที่เป็นวิถีชีวิตของพระเณรนั้นเป็นของจำเป็นน้อยกว่าคอยเปิดวิหารแล้วนั่งเล่นเกมไปแล้ว

แบบนี้ก็-จบข่าวกันเท่านั้นเอง

ก็แปลว่า แม้แต่ในวัดเองซึ่งควรจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติกิจวัตรกิจกรรมอบรมถ่ายทอดวัฒนธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาก็คงจะไม่ได้ทำหน้าที่นี้กันอีกแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งทำพิธีกรรม บูชา ขอพร

ว่ากันตามจริง วัดที่มีการศึกษาอบรมหลักธรรมพระพุทธศาสนาก็มี แต่ต้องเรียกว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่ใช่การศึกษาตามระบบ 

อย่างโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็มีเปิดกิจการกันในหลายๆ วัด แต่ทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของแต่ละแห่งซึ่งไม่เหมือนกัน และเป็นการเรียนตามความสมัครใจ หรือตามศรัทธา ใครไม่สนใจก็ไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ 

พูดตามภาษาธุรกิจก็คือนั่งรอลูกค้าอยู่กับบ้าน ไม่มีแผนการตลาดใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่ฝั่งชาววัด ดูในภาพรวมแล้วดูเหมือนกำลังจะเรียนออกไปทางโลกๆ มากขึ้น หมายถึงเรียนเพื่อเอาวุฒิเหมือนที่ชาวโลกเขาเรียนกันทั่วไป ไม่ได้เรียนด้วยจุดมุ่งหมายที่จะออกไปเป็นกำลังให้แก่พระพุทธศาสนา 

ฝั่งชาวบ้านก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะอบรมสั่งสอนพลเมืองให้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง 

เด็กที่กำลังอยู่ในวัยเรียนก็จึงไม่โอกาสที่จะได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาจากแหล่งใดๆ ในสังคม

ไม่ว่าจะในโรงเรียน

ในวัด

ยิ่งในครอบครัวด้วยแล้ว ไม่ต้องหวัง

เดี๋ยวนี้ถ้าใครคิดจะให้มีการสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ก็จะถูกคัดค้านทันที-จากคนส่วนหนึ่ง-ซึ่ง ณ เวลานี้น่าจะเป็นส่วนใหญ่-ที่รับแนวคิดมาจากฝรั่งว่า ศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนตัว ไม่ควรเอามาสอนในโรงเรียน

กลายเป็นแนวคิดที่แยกศาสนาออกจากสังคม หมายความว่าเมื่อคนในสังคมมาอยู่รวมกันต้องไม่มีศาสนาจึงจะดี จึงจะถูกต้อง ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวว่า-เพราะศาสนาเป็นความเชื่อส่วนตัว ไม่ควรเอามาปฏิบัติในสังคม

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมนึกถึงธรรมสถานที่จุฬาฯ

ใครที่เคยไปร่วมกิจกรรมที่นั่นจะเห็นว่า ที่ลานเสวนา (จะเรียกอะไรก็ไม่แน่ใจ) มีส่วนที่เป็นเวทีสำหรับวิทยากร และส่วนที่เป็นที่นั่งของผู้ฟัง เกลี้ยงๆ โล่งๆ แค่นั้น ไม่มีโต๊ะหมู่บูชา ไม่มีสัญลักษณ์ทางศาสนาใดๆ ไม่มีการไหว้พระสวดมนต์ก่อนเริ่มกิจกรรม

ชื่อว่าธรรมสถาน แต่ไม่ต้องการจะให้เป็นของศาสนาไหนๆ จะให้เป็นกลางๆ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ทำกิจกรรมร่วมกันที่นั่นเป็นชาวพุทธทั้งนั้น

แปลว่าแนวคิดที่จะไม่ให้มีศาสนาไหนๆ อยู่ในวิถีชีวิตสังคมไทย กำลังถูกปลูกฝังลงในหมู่ผู้คนอย่างเงียบๆ แต่ลึกซึ้ง

เป็นคำตอบว่า ทำไมเด็กไทยรุ่นใหม่จึงมองพระสงฆ์ว่าเป็นอภิสิทธิชน การที่คนไทยแสดงความเคารพนับถือพระสงฆ์ในลักษณะต่างๆ เป็นการให้อภิสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง

———–

มีคำแย้งค้านว่า สมัยก่อนสังคมไทยก็ไม่ได้มีหลักสูตรการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาให้แก่เด็ก ทำไมพระพุทธศาสนาจึงดำรงอยู่และดำเนินสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ได้ การไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในทุกวันนี้จึงไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับการดำรงอยู่และดำเนินสืบต่อไปของพระพุทธศาสนาแต่ประการใดเลย

คำตอบก็คือ สมัยก่อนกับสมัยนี้สภาพของสังคมต่างกันมาก สมัยก่อนวิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวพันอยู่กับวัดตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีสุขมีทุกข์ไปแสดงออกกันในวัด สภาพแวดล้อมของชีวิตเป็นเหมือนตัวหลักสูตรการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ 

สมัยนี้เด็กรู้จักเข้าห้างตั้งแต่ยังเล็ก แต่ไม่รู้สึกถึงความจำเป็นจะต้องเข้าวัด

สมัยก่อน ชายไทยทุกคนต้องบวช ใครไม่ได้บวชจะถูกตำหนิติเตียนมากแทบจะไม่มีใครคบด้วย ชายไทยก่อนบวชกับหลังจากลาสิกขาออกมาแล้วบุคลิกจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บวชแล้วเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พร้อมจะรับผิดชอบในครอบครัว และเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม

สมัยนี้ชายไทยจะบวชหรือไม่บวชไม่มีความหมายอะไร ค่านิยม-ไม่บวชเป็นคนดิบ บวชแล้วเป็นคนสุก ไม่มีใครรู้สึกกันอีกต่อไปแล้ว การบวชเสียอีกที่กลายเป็นคำยืนยันถึงความไม่จำเป็นของการบวช หรือแม้กระทั่งความไม่จำเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนา เพราะคนที่บวชกับคนที่ไม่ได้บวชแทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรกันเลย 

เป็นอันว่า สมัยก่อนไม่ต้องมีหลักสูตร ผู้คนก็มีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้พระพุทธศาสนา แต่สมัยนี้ ถ้าไม่มีหลักสูตร กล่าวได้ว่าโอกาสได้เด็กไทยจะได้สัมผัสเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น เป็นศูนย์

พร้อมกันนั่นเอง การประพฤติปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากหลักคำสอนที่ถูกต้องก็ปรากฏตัวมากขึ้นและแพร่หลายยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นไปได้มากที่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยจะค่อยๆ กลายพันธุ์ เปลือกนอกเป็นพระพุทธศาสนา แต่เนื้อในไม่ใช่

ไม่ต้องดูอื่นไกล ในจังหวัดราชบุรีบ้านของผมเอง วัดแห่งหนึ่งตามทะเบียนก็เป็นเถรวาทในคณะสงฆ์ไทยนี่แหละ เมื่อก่อนก็เป็นเถรวาท แต่ไม่กี่สิบปีมานี่เองเนื้อในได้กลายเป็นมหายานไปเรียบร้อยแล้ว

อาจมีหลายท่านออกรับว่า เถรวาทหรือมหายานก็พุทธเหมือนกัน จะอะไรกันนักหนา

แล้วต่อไปก็คงจะมีคนออกมาบอกว่า จะผิดจะเพี้ยนอย่างไรก็ยังดีกว่าไม่มีวัด ไม่มีพระ 

คนเข้าวัดเขย่าติ้ว ขอหวย ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาไปติดยาไม่ใช่หรือ

—————–

ที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องสภาพและคุณภาพของชาวพุทธ

แต่ถ้าดูในแง่ตัวผู้ที่จะรับผิดชอบการพระศาสนา ก็จะเห็นว่าบรรพบุรุษของเราท่านคิดถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว และวางรากฐานไว้ให้แล้วด้วย อย่างสง่างาม นั่นก็คือ-มหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ปรากฏตัวให้เห็นอยู่ในสังคม ณ เวลานี้ เจตนารมณ์ที่แท้จริงก็คือจะให้เป็นแหล่งผลิตและเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อออกไปรับผิดชอบการพระศาสนา 

หมายความว่า ผู้ที่จบไปจากสถาบันนี้แล้วจะต้องไปทำหน้าที่ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องไว้ให้มั่นคง พร้อมไปกับเผยแผ่ให้แพร่หลายยั่งยืนสืบต่อไป – จุดประสงค์หลักอยู่ตรงนี้

แต่ถ้าลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทิศทางของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบันนี้กำลังจะออกนอกแนวทางแห่งเจตนารมณ์ไปทุกที 

คือแทนที่จะทำหน้าที่ผลิตและเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อออกไปรับผิดชอบการพระศาสนา 

ก็กลายเป็น-ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตอีกสาขาหนึ่งเพิ่มให้แก่สังคมเป็นหลัก

จริงอยู่ อาจอธิบายโยงใยไปได้ว่า บัณฑิตที่มหาวิทยาสงฆ์ผลิตออกมานั้นก็จะไปเพิ่มจำนวนพุทธศาสนิกชนที่มีคุณภาพให้แก่สังคม และพุทธศาสนิกชนที่มีคุณภาพเหล่านั้นนั่นเองจะทำหน้าที่ทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาวรสืบไป

แต่พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า การผลิตและเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อออกไปรับผิดชอบการพระศาสนา กับการผลิตพุทธศาสนิกชนที่มีคุณภาพให้แก่สังคมนั้น เป็นคนละงานกันแทบจะโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน สมควรมีการพิจารณาถกเถียงกันเป็นการเฉพาะในอีกเวทีหนึ่ง

—————–

สรุปว่า ณ ขณะนี้สังคมไทยไม่ได้มีกระบวนการใดๆ เพื่อการศึกษาและอบรมเด็กไทยให้รู้จัก เข้าใจ และปฏิบัติพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง

เมื่อเด็กรุ่นนี้เติบโตขึ้นไปกุมการบริหารบ้านเมือง (ความจริงผู้ที่กุมการบริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ก็คือเด็กไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องอยู่แล้ว) เขาก็จะไม่มีความคิดที่จะทะนุบำรุง ปกป้อง และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะแนวคิดที่ถูกครอบงำมาว่า ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนตัว ไม่ควรเอามาปฏิบัติในสังคม

ประกอบกับกระแสอิทธิพลจากต่างศาสนาที่มีนโยบายยึดครองทางศาสนา เปลี่ยนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินของศาสนาอื่น กำลังมาแรงและรุกคืบอยู่ตลอดเวลาโดยที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักและยังไม่ตระหนกถึงภัยร้ายนี้

………..

ข้างในก็ปวกเปียกป้อแป้

ข้างนอกก็กระพือโหมรุนแรง

ทางแก้ก็คือ รู้ทัน และเตรียมตัวให้พร้อมไว้เสมอ

การเตรียมตัวที่ประเสริฐที่สุดก็คือ ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ว่า พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องคืออย่างไร

เมื่อรู้ชัดแล้วก็จงลงมือประพฤติปฏิบัติเป็นส่วนตัวเองให้สม่ำเสมอ

พร้อมไปกับบอกกล่าวญาติมิตรให้รู้ ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติ ตามกำลังความสามารถ

เมื่อถึงเวลาหนึ่ง จะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในแผ่นดินไทย หรือไม่มีก็ตามที ก็ชื่อว่าเราได้ทำหน้าที่ และทำที่พึ่งแก่ตัวเองแล้วเป็นอันดี

เป็นอันไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ 

และพบพระพุทธศาสนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ กันยายน ๒๕๕๙

๑๔:๕๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *