บาลีวันละคำ

โอสถ (บาลีวันละคำ 1,557)

โอสถ

อ่านว่า โอ-สด

โอสถ” บาลีอ่านว่า โอ-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผา, กำจัด) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ อุ-(สฺ) เป็น โอ

: อุสฺ + = อุสถ > โอสถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำจัดโรค

โอสถ” ในภาษาไทยโดยปกติหมายถึง ยารักษาโรค แต่ “โอสถ” ในบาลี ใช้ในความหมายว่า ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำจากสมุนไพรหรือส่วนประกอบอื่นๆ; ความสะดวกสบาย, เครื่องทำให้สดชื่น (any medicine, whether of herbs or other ingredients; comfort, refreshment)

โอสถ” ในบาลีเป็น “โอสธ” (ธ ธง สะกด) อีกรูปหนึ่ง

โอสถ” หรือ “โอสธ” สันสกฤตเป็น “เอาษธ” และมีรูป “เอาษธี” อีกคำหนึ่ง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

เอาษธ, เอาษธิ : (คำนาม) โอษธ, ยา, เครื่องยา, สมุนไพร, ธาตุ, ฯลฯ ใช้ในการปรุงยา; a medicament, a drug, any herb, mineral, etc. used in medicine.”

ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “โอสถ” รูปเดียว ไม่มีที่ใช้เป็น “โอสธ” นอกจากในหนังสือเก่าและในคัมภีร์บางเล่มที่แปลจากต้นฉบับบาลีที่สะกดเป็น “โอสธ” และผู้แปลรักษารูปคำเดิมไว้ เช่นคำว่า “มโหสถ” (มหา + โอสถ) ในคัมภีร์มหานิบาตชาดก คัมภีร์บางฉบับสะกดเป็น “มโหสธ” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอสถ, โอสถ– : (คำนาม) ยาแก้โรค, ยารักษาโรค; เครื่องยา; ในราชาศัพท์ใช้ตลอดจนถึงยาสูบและบุหรี่ เช่น พระโอสถเส้น พระโอสถมวน. (ป. โอสถ, โอสธ; ส. เอาษธ).”

ในทางธรรมท่านนิยมเปรียบพระธรรมว่าเหมือนยารักษาโรค เรียกเป็นศัพท์ว่า “ธรรมโอสถ

นักอธิบายธรรมบางท่านเห็นคำว่า “อุโบสถ” (ในคำว่า “อุโบสถศีล”) ก็เอาไปแยกศัพท์เป็น อุป (ใกล้) + โอสถ (ยารักษาโรค) = อุโปสถ > อุโบสถ > อุโบสถศีล แล้วแปลว่า “ข้อปฏิบัติที่ใกล้ต่อความเป็นยารักษาโรค

การแยกศัพท์และแปลแบบนี้เป็นเหตุให้ผู้รู้บาลีรู้สึกครื้นเครงไปตามๆ กัน (ทำนองเดียวกับ “สกิเทว = เทวดาคราวเดียว” ฉันใดฉันนั้นนั่นเทียว!)

……………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้จะรู้จักตัวยาอย่างเคยคุ้น

อธิบายสรรพคุณได้เก่งกาจ

หรือแม้แต่สามารถปรุงยาได้

ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ได้ใช้ยานั้นรักษาโรค-ฉันใด

: พระธรรมโอสถก็ฉันนั้น

ถ้าดีแต่รู้ ดีแต่พูด แต่ไม่นำไปปฏิบัติ

ก็ไร้ค่า

8-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย