บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ค่า

ค่า

ถามว่า อะไรจะมีค่าหรือไม่มีค่า เอาอะไรเป็นเกณฑ์? 

เอาตัวของสิ่งนั้นเอง หรือเอาคนที่มองสิ่งนั้น?

เช่น ค่าของเพชรพลอยอยู่ที่ไหน 

ถ้าให้ไก่มอง ไก่ก็ต้องบอกว่ามีค่าสู้ข้าวเปลือกไม่ได้ 

ถ้าให้ลิงมอง ลิงก็จะบอกว่ามีค่าสู้กล้วยผลเดียวไม่ได้ 

แต่ถ้าให้คนมอง คนก็จะบอกว่าเพชรพลอยมีค่ากว่าข้าวเปลือกกว่ากล้วยเป็นไหนๆ 

ตกลงค่าจริงๆ ของเพชรพลอยอยู่ที่ไหน 

อยู่ที่ตัวเพชรพลอยเอง 

หรืออยู่ที่ว่าเพชรพลอยไปอยู่กับใคร 

แนวคิดที่คนยอมรับกันมากคือ “จงอยู่ในที่ที่คนเห็นค่าของเรา” 

จากแนวคิดนี้ จึงทำให้คนพากันดิ้นรนขวนขวายด้วยประการต่างๆ เพื่อให้ตนได้ไปอยู่ในสังคมที่คนจะเห็นค่าของตน 

ที่ว่ามานี้มองในมุมที่จะให้สังคมเห็นค่าของเรา แต่ถ้ามองในมุมที่เราจะให้คุณค่าแก่สังคม ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง 

ขอให้ลองดูประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ ๕ 

รัชกาลที่ ๕ ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการที่ประเทศยุโรปหลายพระองค์ โดยมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสเหล่านั้นนำความรู้มาพัฒนาสยามประเทศ มิใช่เพื่อประโยชน์ของตัวพระราชโอรสเอง 

พูดเป็นหลักว่า-ไปเรียนวิชาเพื่อกลับมาทำประโยชน์ให้สังคม 

แล้วดูคนไทยรุ่นหลังๆ จนถึงรุ่นเรา ไปศึกษาวิชาการจากต่างประเทศเพื่ออะไร เพื่อกลับมาทำประโยชน์ให้สังคม หรือว่า-เพื่อกลับมาเอาประโยชน์จากสังคม? 

ถ้าเราจะให้สังคมเห็น “ค่า” ของเรา เราอาจจะต้องปรับตัว เหมือนอยู่กับไก่ เราก็ต้องเป็นข้าวเปลือกจึงจะมีค่า อยู่กับลิง เราก็ต้องเป็นผลไม้จึงจะมีค่า ถ้าเราเป็นเพชรพลอยก็ต้องไปอยู่กับคนที่รู้ค่า 

สรุปว่า ถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องเปลี่ยนสังคม 

แต่ถ้าเราจะทำคุณค่าให้แก่สังคม เราก็ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นข้าวเปลือกหรือเป็นผลไม้ตามสภาพสังคม เรายังคงเป็นอย่างที่เราเป็น เพียงแต่เร่งพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถที่จะสร้าง “ค่า” ให้แก่สังคมตามแนวทางที่เราถนัดหรือตามอุดมคติของเราว่า-สังคมควรจะเป็นอย่างไร และสังคมควรจะได้ค่าแบบไหนจากเราจึงจะดีที่สุด 

ดังเช่นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า 

มิใช่เพื่อให้โลกเห็น “ค่า” ของพระองค์ 

แต่เพื่อมอบ “ค่า” ที่ดีที่สุดให้แก่โลก 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ มกราคม ๒๕๖๕

๑๗:๔๒

………………………………………..

ค่า

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *