บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กาลามสูตร

กาลามสูตร

————

ทบทวนความเข้าใจกันไว้บ้าง

ควรทราบว่า พระสูตรนี้ในพระไตรปิฎกไม่ได้ชื่อ “กาลามสูตร” (กาลามสุตฺต) คำว่า “กาลามสูตร” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในภายหลัง

พระสูตรนี้ ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติยสูตร 

ที่ชื่อ “กาลามสูตร” เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะแห่งวรรณะกษัตริย์ 

ที่ชื่อ “เกสปุตติยสูตร” เพราะพวกกาลามะนั้นเป็นชาวเกสปุตตนิคม

พระสูตรนี้ออกเสียงว่า กา – ลา – มะ – สูด ไม่ใช่ กา-ละ-มะ-สูด หรือ กะ-ลา-มะ-สูด อย่างที่บางคนเรียกกันเพลินปากไป

คนส่วนมากนิยมยกคำว่า “กาลามสูตร” ไปอ้างโดยบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อตำรา พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อครู เป็นต้น 

โปรดทราบว่า การพูดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง

ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เพียงแค่อ้างว่า เขาเขียนไว้ในตำราจึงต้องเชื่อ คนนี้เป็นครูบาอาจารย์จึงต้องเชื่อ-อย่างนี้เป็นต้น โดยตรัสถึงตัวอย่างที่คนชอบยกขึ้นมาอ้างไว้ ๑๐ ข้อ ว่าอย่าอ้างแบบนี้

ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ ท่านประมวลความไว้อย่างกระชับ มีภาษาอังกฤษแนบไว้ให้ด้วย จับเอาไปอ้างอิงได้ ดูพจนานุกรมนี้แล้วมองภาพกาลามสูตรออก

……………………………………

[317] กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร — Kālāmasutta-kaṅkhāniyaṭṭhāna: how to deal with doubtful matters; advice on how to investigate a doctrine, as contained in the Kālāmasutta)

1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)

2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)

3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)

4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)

5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)

6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)

7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)

8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved theory)

9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)

10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

สูตรนี้ ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติยสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะแห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาลามะนั้นเป็นชาวเกสปุตตนิคม

A.I.189. องฺ.ติก.20/505/241.

……………………………………

สาระของกาลามสูตรมีอยู่ ๓ ตอน คือ –

๑ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ

๒ ต้องเชื่ออย่างมีหลัก

๓ เชื่ออย่างมีหลักแล้วดีอย่างไร

ที่เอาไปอ้างกันนั้น จับเอาตอนแรกไปพูดกันตอนเดียวเหมือนกับว่าทั้งหมดของกาลามสูตรมีอยู่แค่นั้น

หนังสือ พุทธธรรม งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กล่าวไว้ว่า – 

……………………………………

อนึ่ง ไม่พึงแปลความเลยเถิดไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ก็ขนาดสิ่งที่น่าเชื่อที่สุดแล้ว ท่านยังให้คิดให้พิจารณาให้ดีก่อน สิ่งอื่นคนอื่น เราจะต้องคิดต้องพิจารณาระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน 

ที่มา: เชิงอรรถ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พ.ศ.๒๕๒๕) หน้า ๖๕๑

……………………………………

ตามไปอ่านกาลามสูตรได้ที่ลิงก์นี้

……………………………………

https://84000.org/tipitaka/read/?20/505

……………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ มกราคม ๒๕๖๕

๑๐:๔๔

………………………………………

กาลามสูตร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *