บาลีวันละคำ

โสตทัศนูปกรณ์ (บาลีวันละคำ 3,693)

โสตทัศนูปกรณ์

อ่านว่า โส-ตะ-ทัด-สะ-นู-ปะ-กอน ก็ได้

อ่านว่า โสด-ทัด-สะ-นู-ปะ-กอน ก็ได้

(อนุโลมตามการอ่านคำว่า “โสตทัศนอุปกรณ์” ในพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า โสต + ทัศน + อุปกรณ์

(๑) “โสต

บาลีอ่านว่า โส-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง, ได้ยิน) + ปัจจัย, แผลง อุ เป็น โอ (สุ > โส)

: สุ + = สุต > โสต แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่ได้ยิน” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องฟัง

โสต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง หู, โสตประสาท (ear, the organ of hearing)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โสต, โสต– ๑ : (คำนาม) หู, ช่องหู. (ป.; ส. โศฺรตฺร).”

(๒) “ทัศน

บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

(๓) “อุปกรณ์” 

บาลีเป็น “อุปกรณ” อ่านว่า อุ-ปะ-กะ-ระ-นะ แยกศัพท์เป็น อุป + กรณ 

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น” 

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out) 

(3) สุดแต่ (up to) 

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(ข) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น  

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” 

อุป + กรณ = อุปกรณ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” “เครื่องสำหรับเข้าไปทำ

อุปกรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การช่วยเหลือ, การบริการ, การค้ำจุน, วิถีดำรงชีวิต, การดำรงชีพอยู่ (help, service, support; means of existence, livelihood) 

(2) เครื่องมือหรือหนทางที่จะบรรลุความประสงค์ (any instrument or means of achieving a purpose) 

บาลี “อุปกรณ” สันสกฤตก็เป็น “อุปกรณ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปกรณ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องจักร์; ราชกกุธภัณฑ์; การช่วยเหลือ; ‘ศิลปสัมภาร,’ สิ่งซึ่งวิทยาหรือศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นไว้; เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีวิต, กะปิ, น้ำปลา, ฯลฯ; apparatus, implements, machines; the insignia of royalty; assistance, help; art-furniture, an object of art or science; means of subsistence, anything supporting life, condiments, sauces, &c.”

บาลี “อุปกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปกรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปกรณ์ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องช่วย, เครื่องประกอบ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น เช่น ยางอะไหล่. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

โสต + ทัศน = โสตทัศน แปลว่า “การฟังและการดู” หรือจะแปลว่า “หูและตา” ก็ไม่ผิด

โสตทัศน + อุปกรณ์ = โสตทัศนูปกรณ์ แปลว่า “เครื่องมือเพื่อการฟังและการดู” 

ขยายความ :

(1) โสตทัศน + อุปกรณ์ ถ้าใช้วิธีสมาส + สนธิ ก็ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” 

สระหน้า คือ อะ ที่ (-ทัศ)- (ตามกฎบาลี พยัญชนะทุกตัวที่ประกอบกันเป็นศัพท์ มีสระกำกับอยู่ด้วย แม้ไม่เขียนรูปสระไว้) 

สนธิกับ อุ ในที่นี้คง อุ ไว้ และ อุ ซึ่งเป็นสระต้องอาศัยอยู่กับ จึงต้องลบ อะ ที่ ทิ้งก่อน เพราะพยัญชนะตัวเดียวจะมีสระ 2 ตัวไม่ได้

สระหลัง คือ อุ ที่ อุ-(ปกรณ์) ทีฆะ (ยืดเสียง) เป็น อู ( + อู = นู)

: โสตทัศน + อุปกรณ์ = โสตทัศนูปกรณ์ (โส-ตะ-ทัด-สะ-นู-ปะ-กอน,โสด-ทัด-สะ-นู-ปะ-กอน)

(2) ถ้าไม่ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือคงสระหน้า-หลังไว้ทั้ง 2 ศัพท์ รูปศัพท์ก็จะไม่เปลี่ยน คือเท่ากับศัพท์ 2 ศัพท์มาชนกันเฉยๆ

: โสตทัศน + อุปกรณ์ = โสตทัศนอุปกรณ์ (โส-ตะ-ทัด-สะ-นะ-อุ-ปะ-กอน, โสด-ทัด-สะ-นะ-อุบ-ปะ-กอน)

โสตทัศนอุปกรณ์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โสตทัศนอุปกรณ์ : (คำนาม) อุปกรณ์การสอนสําหรับฟังและดู เช่นวิทยุ โทรทัศน์, ใช้ว่า โสตทัศนูปกรณ์ ก็มี.”

แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่า “ใช้ว่า โสตทัศนูปกรณ์ ก็มี” แต่คำว่า “โสตทัศนูปกรณ์” ก็ไม่ได้มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ 

ไม่ได้มีเก็บไว้” หมายความว่า ไม่ได้เก็บไว้เป็นคำตั้งเหมือนคำว่า “โสตทัศนอุปกรณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำบางคำมีใช้

แต่ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม

: คนบางคนมีคม

แต่ไม่ได้เก็บไว้เชือดเฉือนใคร

#บาลีวันละคำ (3,693)

23-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *