บาลีวันละคำ

ปาฏิหาริย์ (บาลีวันละคำ 372)

ปาฏิหาริย์

อ่านว่า ปา-ติ-หาน

บาลีเป็น “ปาฏิหาริย” อ่านว่า ปา-ติ-หา-ริ-ยะ (มีรูปคำอื่นๆ อีกด้วย)

ปาฏิหาริย” แปลตามศัพท์ว่า “พลังที่นำไปเสีย (คือกำจัดได้) ซึ่งปฏิปักษ์” “พลังที่ใช้กับปฏิปักษ์” “พลังอันผู้สำเร็จนำให้เป็นไปเป็นพิเศษ” (โปรดสังเกตว่า ปาฏิหาริย์มักใช้ต่อเมื่อมี “ปฏิปักษ์” คือฝ่ายตรงข้าม หรืออีกฝ่ายหนึ่ง เกิดขึ้นเท่านั้น)

ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์, เรื่องที่น่าอัศจรรย์, สิ่งที่ประหลาดเหลือ, ความมหัศจรรย์, ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์

ปาฏิหาริย์มี 3 ประเภท คือ –

1 “อิทธิปาฏิหาริย์” = ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ คือ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น

2 “อาเทศนาปาฏิหาริย์” = ปาฏิหาริย์คือการทายใจ คือ รอบรู้กระบวนของจิต อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์

3 “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” = ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี คือ คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ เช่นสอนให้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ได้จริง

ระวัง อย่าเขียนผิด ปา ฏิ หา ริ ย์  สระอิ บน ร – ย์ การันต์

: ฝึกฝนตนเองให้เก่งเชี่ยวชาญ ดีกว่ารอปาฏิหาริย์ที่คนอื่นทำให้ดู

บาลีวันละคำ (372)

21-5-56

ปาฏิหาริย = ที่น่าอัศจรรย์, สิ่งเหลือเชื่อ (ปาฏิหีร, ปาฏิเหร) (ศัพท์วิเคราะห์)

(๑) ปฏิปกฺเข เหติ คจฺฉตีติ ปาฏิหาริยํ พลังที่เป็นไปในปฏิปักษ์คือฝ่ายตรงข้าม

ปฏิ บทหน้า หิ ธาตุ ในความหมายว่าไป, เป็นไป ณ ปัจจัย แปลง หิ เป็น หาริย ทีฆะ อ ที่บทหน้าเป็น อา ลบสระหน้า

(๒) ปฏิปกฺเข หรตีติ ปาฏิหาริยํ พลังที่นำไปเสียซึ่งปฏิปักษ์

ปฏิ บทหน้า หร ธาตุ ในความหมายว่านำไป ณฺย ปัจจัย ทีฆะ อ ที่บทหน้าเป็น อา พฤทธิ์ อ ที่ธาตุเป็น อา ลง อิ อาคม

(๓) สมาหิเต จิตฺเต วิคตูปกฺกิเลเส จ กตกิจฺเจน ปจฺฉา หริตพฺพํ ปวตฺเตตพฺพนฺติ ปาฏิหาริยํ พลังอันผู้เสร็จกิจแล้วในเพราะจิตตั้งมั่นและปราศจากอุปกิเลสแล้วนำให้เป็นไปเฉพาะ (เหมือน วิ.ต้น)

ปาฏิหาริย (บาลี-อังกฤษ)

(คุณ) ประหลาด, อัศจรรย์, วิสามัญ, พิเศษ

(นปุง.) สิ่งอัศจรรย์, ปาฏิหาริย์

striking, surprising, extraordinary, special; wonder, miracle.

ปาฏิหีร

(คุณ) อัศจรรย์

(นปุง.) สิ่งที่ประหลาดเหลือ, ความมหัศจรรย์, ปาฏิหาริย์

wonderful; a wonderful thing, marvel, miracle

ปาฏิหีร, ปาฏิหาร, ปาฏิหาริก, ปาฏิหาริย นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ปาฏิหาริย์, ความมหัศจรรย์, ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด.

ตตฺถ  ทิสฺวาน  ปาฏิหีรานีติ 

นาคราชทมนาทีนิ  อฑฺฒุฑฺฒสหสฺสานิ  ปาฏิหาริยานิ  ทิสฺวา ฯ 

ปาฏิหีรํ  ปาฏิเหรํ  ปาฏิหาริยนฺติ  หิ  อตฺถโต  เอกํ  พฺยญฺชนเมว  นานํ ฯ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ทิสฺวาน  ปาฏิหีรานิ ความว่า

ได้เห็นปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ ประการ มีการทรมานพญานาคเป็นต้น

จริงอยู่ บทว่า ปาฏิหีร, ปาฏิเหร, ปาฏิหาริย โดยใจความเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น.

ปรมัตถทีปนี ภาค ๒ เถรคาถาวัณณนา (อุรุเวลกัสสปเถรคาถา) หน้า 131

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๕๒ หน้า ๑๕๒

ปาฏิหาริย์ (ประมวลศัพท์)

สิ่งที่น่าอัศจรรย์, เรื่องที่น่าอัศจรรย์, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ มี ๓ คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ทายใจได้เป็นอัศจรรย์ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนมีผลจริงเป็นอัศจรรย์ ใน ๓ อย่างนี้ข้อสุดท้ายดีเยี่ยมเป็นประเสริฐ

อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓)

อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือ การทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิตต์อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๒ ในปาฏิหาริย์ ๓)

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๓ ใน ปาฏิหาริย์ ๓)

ปาฏิหาริย์

 [-ติหาน] น. สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, มี ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ = ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ = การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ = การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์. (ปาก) ก. กระทำสิ่งที่ตามปรกติทำไม่ได้ เช่น ปาฏิหาริย์ขึ้นไปอยู่บนหลังคา. (ป.).