ดุษฎี – ดุษณี (บาลีวันละคำ 373)
ดุษฎี – ดุษณี
คำแรกอ่านว่า ดุด-สะ-ดี (ดี-เสียง ด เด็ก)
คำหลังอ่านว่า ดุด-สะ-นี (นี-เสียง น หนู)
“ดุษฎี” (ฎ ชฎา) ตรงกับบาลีว่า “ตุฏฺฐิ” (ตุด-ถิ) แปลว่า ความยินดี, ความร่าเริง, ความชื่นชม, ความรื่นเริง, ความบันเทิง, ความปลื้มใจ (คำเดียวกับ ดุษฎีบัณฑิต)
“ดุษณี” (ณ เณร) ตรงกับบาลีว่า “ตุณฺหี” (ตุน-นฮี ณ สะกดและเป็นกึ่งตัวนำพยางค์หลัง) แปลว่า นิ่ง, เงียบ, อาการนิ่งซึ่งแสดงถึงการยอมรับ นิยมใช้ว่า “โดยดุษณี” หรือ “โดยดุษณีภาพ” เช่น “เขายอมรับผิดโดยดุษณี”
คำสองคำนี้มีปัญหาการใช้ในภาษาไทย คือ ในที่อันควรจะใช้ว่า “ดุษณี” (= ยอมรับโดยการนิ่ง) แต่มักจะพูดว่า “เขายอมรับโดยดุษฎี” (ดุษฎี =ความยินดี, ความปลื้มใจ) บางทีผิดไปจนถึงว่า “เขายอมรับโดยสดุดี” (สดุดี = ยกย่อง, สรรเสริญ) แล้วยังพลอยสงสัยไปถึงคำว่า “อุษณีษ์” ที่เสียงคล้ายกัน แต่ไม่เกี่ยวอะไรกันเลย (“อุษณีษ์” ตรงกับบาลีว่า “อุณหีส” แปลว่า มงกุฎ และโปรดสังเกต ษ ฤๅษีการันต์ ไม่ใช่ ย ยักษ์)
คำเหล่านี้มีความหมายต่างกัน ดูที่ฝรั่งแปลไว้อาจช่วยได้บ้าง
ยินดี-ดุษฎี = pleasure, joy, enjoyment
นิ่งเงียบ-ดุษณี = silently, silence, attitude of consent
ยกย่อง-สดุดี = praise
มงกุฎ-อุษณีษ์ = diadem, a turban
ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ แต่การใช้ถูกใช้ผิดเป็นเรื่องจริง
ดังนั้น : ดูสมมุติให้เป็น ก็จะได้เห็นปรมัตถ์
บาลีวันละคำ (373)
22-5-56
ตุฏฺฐิ = ความยินดี, ความปลื้มใจ (ศัพท์วิเคราะห์)
ตุสฺสนฺติ เอตายาติ ตุฏฺฐิ ภาวะเป็นเหตุยินดี
ตุส ธาตุ ในความหมายว่ายินดี ติ ปัจจัย แปลง สต เป็น ฏฺฐ
ตุณฺห = ความนิ่ง, ความเงียบเฉย, ดุษณีภาพ
โตหตีติ ตุณฺโห อาการที่ข่มความเงียบ คือนิ่งเงียบ
ตุห ธาตุ ในความหมายว่าข่มเหง, เบียดเบียน ณฺห ปัจจัย ลบ ห ที่สุดธาตุ
ตุณฺหี = ดุษณี, ผู้นิ่งเงียบ
ตุณฺโห โมนเมตสฺสาตฺถีติ ตุณฺหี ผู้มีความนิ่ง
ตุณห บทหน้า อี ปัจจัย
ตุฏฺฐิ (บาลี-อังกฤษ)
ความชื่นชม, ความรื่นเริง, ความบันเทิง
pleasure, joy, enjoyment
ตุณฺหี อย่างเงียบๆ silently,
โดยเฉพาะในวลี ตุณฺหี อโหสิ เขานิ่งเงียบ เป็นเครื่องหมายว่ายินยอมหรือตอบรับ
ตุณฺหีภาว ความเงียบ, การมีท่าทียินยอม, ดุษณีภาพ
silence, attitude of consent
โดยปกติในรูป ตุณฺหีภาเวน อธิวาเสสิ เขาเห็นด้วย
ตุฏฺฐิ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความยินดี, ความร่าเริง.
ตุณฺหี ก.วิ.
นิ่ง, เงียบ
ตุณฺหี ค.
นิ่ง, เงียบ, ไม่มีเสียง, ดุษณี.
ตุณฺหีภาว ป.
ดุษณีภาพ, ความเป็นผู้นิ่ง, ความเงียบ.
ดุษฎี
[ดุดสะดี] น. ความยินดี, ความชื่นชม. (ส.).
ดุษฎีบัณฑิต
น. ปริญญาเอก; ผู้ได้รับปริญญาเอก.
ดุษณี, ดุษณีภาพ
[ดุดสะนี-] น. อาการนิ่งซึ่งแสดงถึงการยอมรับ. (ส. ตุษฺณีมฺ; ป. ตุณฺหี).
อุษณีษ์
น. มงกุฎ; กรอบหน้า. (ส.; ป. อุณฺหีส). diadem, a turban
diadem มงกุฎ, มาลัยสวมศีรษะ, รัดเกล้า
(สอ เสถบุตร)
สดุดี
[สะ-] น. คํายกย่อง, คําสรรเสริญ, (โดยปรกติใช้ในลักษณะเป็นพิธีการ), เช่น กล่าวสดุดีวีรกรรมของทหาร. (ส. สฺตุติ; ป. ถุติ).
ถุติ (บาลี-อังกฤษ)
การยกย่อง, การสรรเสริญ praise
ถุติ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
การยกย่องชมเชย, การสรรเสริญ, การสดุดี.