บาลีวันละคำ

อุปรากร (บาลีวันละคำ 3,541)

อุปรากร

รู้จักหน้า แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหน

อ่านว่า อุ-ปะ-รา-กอน ก็ได้

อ่านว่า อุบ-ปะ-รา-กอน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

คำว่า “อุปรากร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

“อุปรากร : (คำนาม) ละครประเภทหนึ่ง มีดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงผสมวงดุริยางค์. (อ. opera).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ – 

อุปรากร : (คำนาม) ละครเพลงประเภทหนึ่ง ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงผสมผสานการบรรเลงจากวงดุริยางค์. (อ. opera).”

หมายเหตุ :

คำนิยามในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 กับฉบับ พ.ศ.2554 เป็นเรื่องที่น่าศึกษาสังเกต เมื่อเปรียบเทียบกันก็ชวนให้อยากรู้ว่า กรรมการผู้ชำระพจนานุกรมฯ คิดอย่างไรหรือมีเหตุผลอย่างไรจึงปรับแก้ข้อความเดิมเช่นนั้นๆ ให้เป็นข้อความใหม่เช่นนี้ๆ 

เช่นในที่นี้ คำนิยามในพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 บอกว่า “ละครประเภทหนึ่ง” พจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็น “ละครเพลงประเภทหนึ่ง” ชวนให้อยากรู้ต่อไปว่า “ละคร” กับ “ละครเพลง” แตกต่างกันอย่างไร ถ้า “ละคร” เป็นคำกลางๆ หมายรวมถึง “ละครเพลง” ด้วย จะต้องแก้ “ละคร” เป็น “ละครเพลง” ทำไม – อย่างนี้เป็นต้น

ภาษาไทยเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ การสนใจศึกษาภาษาไทยย่อมไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างแน่นอน

…………..

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อุปรากร” คำอังกฤษว่า opera แต่ไม่ได้บอกว่า คำว่า “อุปรากร” เองเป็นภาษาอะไร หรือสร้างรูปคำขึ้นมาจากคำอะไรในภาษาอะไร

ดูตามรูปศัพท์ “อุปรากร” ก็เป็นคำบาลีสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือค้นศัพท์สันสกฤตไม่มีคำนี้ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็ไม่มีคำนี้ 

สุ่มหาในคัมภีร์บาลี ก็ไม่พบรูปศัพท์แบบนี้ 

เป็นอันสันนิษฐานได้ว่า คำนี้เป็นคำที่ปรุงรูปศัพท์ขึ้นใหม่

คำอังกฤษว่า opera ทำให้เดาได้ไม่ยากว่า ผู้บัญญัติศัพท์เอาเสียง โอ-เป-รา (อังกฤษออกเสียงเป็น ออพ-เออะระ) นี่เองไปปรุงเป็น อุ-ปะ-รา- เป็นการล้อเสียง ซึ่งในหลักการบัญญัติศัพท์ย่อมสามารถทำได้ ดังคำว่า “สัมมนา” ที่บัญญัติขึ้นจากคำว่า seminar เป็นต้น

ปัญหาก็คือ คำว่า “อุปรากร” ถ้าปรุงขึ้นจากคำบาลี จะอธิบายรากศัพท์ว่าอย่างไร

อุป-” เหมาะที่มาจาก “อุป” (อุ-ปะ) คำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป = เข้าไป, ใกล้, มั่น

แล้ว “-รากร” มาอย่างไร?

ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า คำนี้แยกศัพท์เป็น อุปรา + กร 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ในส่วนธาตุ มี รา ธาตุ บอกความหมายว่า สทฺเท = ส่งเสียง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “อุปรว” (อุ-ปะ-ระ-วะ) แปลว่า noise (เสียง)

ประมวลกันเข้าแล้ว น่าจะเป็น อุป + รา ธาตุ ลงปัจจัยตัวใดตัวหนึ่ง เช่น หรือ (อะ) (ณ ปัจจัยลงแล้วลบ ณ, อ ปัจจัยไม่ปรากฏรูป) สำเร็จรูปเป็น “อุปรา” (อุ-ปะ-รา) แปลว่า “เสียงร้อง

อุปรา + กร (กะ-ระ) แปลว่า “ผู้กระทำ” ที่เราคุ้นกันดี สำเร็จรูปเป็น “อุปรากร” แปลว่า “ผู้ทำเสียง” หรือ “ผู้ส่งเสียง” หมายถึง การแสดงที่มีการร้องเพลงเป็นจุดเด่น

โปรดระลึกว่า ที่ว่ามานี้เป็นการเดาทั้งสิ้น อาจเป็นเช่นนี้ หรือไม่ได้เป็นเช่นนี้เลยก็ได้ นักเรียนบาลีควรช่วยกันหาข้อยุติต่อไป

ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า เมื่อจะบัญญัติศัพท์นี้ ท่านผู้คิดศัพท์ย่อมจะต้องแสดงที่มาของศัพท์กำกับไว้ด้วยอย่างแน่นอน รายละเอียดคงจะบันทึกไว้ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ ซึ่งขณะนี้น่าจะเก็บไว้อย่างมิดชิดที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 

ถ้ารายละเอียดมีอยู่ในบันทึกการประชุมจริง และสามารถนำออกมาศึกษากันได้ ก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนว่า “อุปรากร” มีรากศัพท์มาอย่างไร

เวลานี้บันทึกการประชุมของราชบัณฑิตยฯ ซึ่งเป็นขุมคลังแห่งความรู้ถูกเก็บไว้เงียบๆ อุปมาเหมือนอาหารโอชารส แต่ไม่สามารถนำออกมาบริโภคได้

ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งสามารถนำอาหารโอชารสนี้มาแจกจ่ายให้ชาวเราบริโภคกันได้ จะต้องนับว่าเป็นผู้ทำอุปการะทางปัญญาแก่สังคมเป็นอย่างยิ่งยวดทีเดียว

…………..

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล opera เป็นบาลีว่า: 

sasaṅgītanāṭaka สสงฺคีตนาฏก (สะ-สัง-คี-ตะ-นา-ตะ-กะ) = ละครที่มีการบรรเลงและขับร้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตเหมือนละคร

: แต่บุญบาปเป็นเรื่องจริง

#บาลีวันละคำ (3,541)

21-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *