บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๕)

วัดห้าหอ (๕)

———–

ข้อพิสูจน์เทียบเคียงที่เห็นได้ในเวลานี้ก็คือ จากเดิมแต่ละวัดตีระฆังวันละ ๒ เวลา เช้าครั้งหนึ่ง เย็นครั้งหนึ่ง บัดนี้ วัดหลายๆ วัดเลิกตีระฆังไปแล้ว ทั้งเช้าทั้งเย็นไม่มีเสียงระฆังดังมาจากวัดอีกต่อไป 

นั่นหมายความว่า ต่อไปพระรูปไหนมาเป็นเจ้าอาวาสท่านก็จะยืนยันด้วยข้อความเดียวกันว่า ตั้งแต่บวชมาวัดของท่านยังไม่เคยตีระฆังเช้าระฆังเย็นเลย!!

เพราะวัดเลิกตีระฆัง (ด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผลร้อยแปดพันเก้าอย่างใดๆ ก็ตามทีเถิด-เหมือนเหตุผลที่พระไม่ออกบิณฑบาตนั่นแหละ) ชาวบ้านรอบวัดนั้นก็ไม่เคยได้ยินเสียงระฆัง 

เด็กไทยสมัยนี้จึงไม่เคยได้ยินเสียงระฆังมาตั้งแต่เกิดเหมือนเด็กไทยสมัยก่อน 

วัดไหนตีระฆังขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องประหลาด

ยิ่งถ้าเกิดจะตีระฆังตอนตีสี่ในพรรษาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์มหันตภัยทีเดียว

จำกันได้หรือไม่-เหตุการณ์ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองกรุงเมื่อปีก่อนโน้น ชาวบ้านร้องเรียนว่าวัดตีระฆังหนวกหูคนจะหลับจะนอน!!

สมัยก่อน พระตีระฆังทำกิจวัตร ชาวบ้านได้ยินแล้วยกมือท่วมหัวอนุโมทนา สมัยนี้ พระตีระฆังทำกิจวัตร ชาวบ้านลุกขึ้นมาด่าว่าหนวกหู 

มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ใครเป็นผู้ทำให้อะไรขาดหายไปจากวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทย – ถามกันตรงๆ – ใครเป็นผู้ทำให้เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงพระทำวัตรสวดมนต์ ขาดหายไปจากวัด?

เมื่อไม่มีการตีระฆังเช้า-เย็น แล้วการทำวัตรสวดมนต์เช้าเวลาหนึ่ง เย็นเวลาหนึ่งเล่า ยังมีอยู่หรือไม่?

การสวดมนต์เช้าเวลาหนึ่ง เย็นเวลาหนึ่ง ที่ชาววัดรุ่นเก่าถือกันว่าเป็น “เวลาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า” ที่เคยกระหึ่มพร้อมกันทั่วแผ่นดินไทยโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง มีพระภิกษุสามเณรเป็นผู้ขับเคลื่อน บัดนี้เงียบเหงา ยังพอมีอยู่บ้าง แต่เหลืออยู่น้อยเต็มที และเชื่อว่าจะค่อยๆ หมดไปในที่สุด-ทำนองเดียวกับการตีระฆังตีกลองที่เคยมีแล้วก็หมดไปในที่สุดนั่นเอง

อีกไม่นาน “หอระฆัง” จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างโบราณที่มีเอาไว้ชี้ชวนกันดู และให้ผู้คนถามกันว่า-นี่อะไร มีไว้ทำไม แบบเดียวกับ “หอกลอง” 

เมื่อก่อน เวลา ๑๑:๐๐ นาฬืกา วัดต่างๆ จะตีกลองบอกเวลาพระฉันเพล เรียกกันว่า “กลองเพล” 

บัดนี้ แทบทุกวัดเลิกตีกลองเพลแล้ว (ด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผลร้อยแปดพันเก้าอย่างใดๆ ก็ตามทีเถิด-เหมือนเหตุผลที่พระไม่ออกบิณฑบาต และเหตุผลที่เลิกตีระฆังนั่นแหละ) ทั้งๆ ที่กลองก็ยังมีแขวนอยู่นั่นเอง

เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชาวนาไถนามาตั้งแต่ราวๆ ตีสี่ จนถึงใกล้เพลก็เลิก พอเพล เสียงกลองเพลดังมาจากวัด วัวที่ลากไถอยู่มันจะหยุดเดินทันที เพราะมันรู้ว่าหมดเวลาทำงานแล้ว นี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่นิยาย ผมอยู่ในสนาม อยู่ในที่เกิดเหตุ เห็นมากับตา

วัวสมัยก่อนรู้จักเสียงกลองเพล

แต่คนสมัยนี้ไม่รู้จักเสียงกลองเพลกันแล้ว เศร้าไหม

หอกลอง หอระฆัง หอฉัน เสียงกลองเพล เสียงระฆัง โยงไปถึงการทำวัตรสวดมนต์ โยงไปถึงการออกบิณฑบาต โยงไปถึงวิถีชีวิตสงฆ์ โยงไปถึงลมหายใจของพระพุทธศาสนา โยงถึงกันหมด ไม่ใช่คิดเอาเอง คิดไปเอง แต่ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความเป็นจริงเป็นเช่นนั้น

…………………

หอที่สำคัญที่สุดในบรรดาหอทั้งห้า ก็คือ “หอไตร” เพราะนี่คือหัวใจของวิถีชีวิตสงฆ์ การศึกษาพระไตรปิฎก การศึกษาพระธรรมวินัย คือหัวใจของวิถีชีวิตสงฆ์ คือลมหายใจของพระพุทธศาสนา

ถ้าจะว่าไปแล้ว วัดทั้งวัดนั่นเลยเป็นหอไตรอยู่แล้วในตัวเอง แต่นั่นหมายถึงวัดที่มีการศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นกิจวัตร-ไม่ใช่เฉพาะประจำวัน-หากแต่ประจำชีวิต ศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นกิจวัตรประจำชีวิต-ตลอดเวลาที่อยู่ในวัด อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์

สมัยก่อน ชาวบ้านเห็นพระ ถ้าเป็นพระที่ไม่รู้จักมาก่อน คำถามแรกที่เขาถามกันก็คือ “พระวัดไหน?”

พระกับวัดจะถูกเอ่ยถึงควบคู่กันไปเสมอ เพราะวัดคือสถานฝึกศึกษาอบรมของพระ แต่ละวัดน้ำหนักการอบรมอาจจะแตกต่างกันไป แต่พระธรรมวินัยเป็นเนื้อเดียวกัน การรู้ว่าพระวัดไหน ทำให้ประเมินได้ทันทีว่า พระรูปนั้นได้รับการฝึกอบรมหนักในทางไหน 

แต่ทุกวันนี้ วัดแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่ฝึกอบรมให้แก่พระภิกษุสามเณรอีกแล้ว ที่ประหลาดที่สุดก็คือ เราย้ายการศึกษาของพระภิกษุสามเณรออกไปทำกันนอกวัด หรือพูดอย่างประนีประนอมว่า เราไปสร้าง “วัดรวม” ไว้ในที่แห่งหนึ่ง แล้วให้พระภิกษุสามเณรไปศึกษารวมกันที่นั่น 

เข้าห้องเรียนตามเวลา เลิกเรียนตามเวลา ก่อนจะมาเข้าห้องเรียนไปทำอะไรมา เราไม่รับทราบ ออกจากห้องเรียนไปแล้วจะไปทำอะไร เราก็ไม่รับทราบ เรารับทราบกันเฉพาะเมื่ออยู่ในห้องเรียน และรับทราบเรื่องเดียวเท่านั้น คือเรื่องวิชาการ จะได้เกรดเอหรือได้บีได้สี่หรือได้สอง เรื่องอื่นใดในชีวิตประจำวันของแต่ละรูป เราไม่รับทราบ การปฏิบัติพระธรรมวินัยในชีวิตประจำวัน กล่าวได้ว่าอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ “วัดรวม” 

ด้วยระบบการศึกษาแบบนี้ การเรียนพระปริยัติธรรมที่เคยจัดมาแต่เดิมก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลงไปทุกที วุฒิ “นักธรรม” วุฒิ “เปรียญธรรม” ค่อยๆ หมดความหมายลงไปทุกที “นักธรรม” นั้น เวลานี้พูดได้เต็มปากว่าหมดความหมายเด็ดขาด “เปรียญธรรม” ยังพอมีความหมายอยู่บ้างเฉพาะ ป.ธ.๙ ต่ำกว่านั้นแทบไม่มีความหมายอะไร เราพากันหันไปภูมิใจวุฒิการศึกษาแบบชาวบ้าน และหมดความภาคภูมิใจในวุฒิการศึกษาทางพระปริยัติธรรม

คิดตามไปก็จะได้คำตอบว่า ทำไมพระภิกษุสามเณรสมัยนี้จึงไม่นิยมใส่วุฒิการศึกษาพระปริยัติธรรมต่อท้ายชื่อ แต่นิยมใส่วุฒิการศึกษาแบบชาวบ้านต่อท้ายชื่อ

แล้ว “วัด” ที่มีอยู่เดิม ที่เคยเป็น “หอไตร” คือที่ฝึกศึกษาอบรมพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร เราเอาไว้ทำอะไร? เราก็แปรสภาพเป็น “ที่พักส่วนตัวของพระ” ไปเรียบร้อยเลย

เพราะฉะนั้น คิดตามไปก็จะได้คำตอบว่า ทำไมพระภิกษุสามเณรสมัยนี้จึงไม่นิยมใส่ชื่อวัดที่สังกัดต่อท้ายชื่อ 

เหมือนอะไร? ก็เหมือนสถานะของชาวบ้าน เช่น คนเป็นรัฐมนตรี เขาก็บอกแต่ว่า-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอะไร เขาไม่ต้องบอกกันว่าอยู่บ้านเลขที่เท่าไร ถนนอะไร คนเป็นอธิบดี เขาก็บอกแต่ว่าอธิบดีกรมอะไร เขาไม่ต้องบอกกันว่าอยู่บ้านเลขที่เท่าไร ถนนอะไร คนเป็นผู้อำนวยการ เป็นหัวหน้าส่วนราชการใดๆ หรือใครมีตำแหน่งอะไร เขาก็บอกแต่สถานะที่เขาเป็นเท่านั้น เขาไม่ต้องบอกกันว่าอยู่บ้านเลขที่เท่าไร ถนนอะไร เพราะบ้านเป็นเพียงที่พักส่วนตัว ไม่จำเป็นจะต้องไปบอกใคร

ชาววัดก็กำลังทำวัด-ซึ่งเคยเป็นสำนักฝึกอบรมศึกษา หรือเป็น “หอไตร” ของพระ ให้กลายเป็นที่พักส่วนตัวของพระไปแล้วในกาลบัดนี้

เมื่อวัดในฐานะ-สำนักฝึกศึกษาสั่งสอนอบรมปฏิบัติวิถีชีวิตสงฆ์ หรือเป็น “หอไตร” ของพระ-ถูกทำให้หมดความหมายลงไป แล้วสถานะอะไรที่ยังเหลืออยู่? สถานะที่ยังเหลืออยู่ นอกจาก “ที่พักส่วนตัวของพระ” ก็คือสถานประกอบพิธีกรรม สถานที่ทำพิธีอ้อนวอนขอพรพระ และที่ดูจะมีบทบาทสำคัญหน่อยน่าจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีศพ 

แต่เชื่อว่า อีกไม่นานสถานที่ประกอบพิธีศพจะย้ายออกไปอยู่นอกวัด โดยเอกชนจะเป็นเจ้าของกิจการ พระจะมีฐานะเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ทำพิธี ถึงตอนนั้นฌาปนสถานแต่ละแห่งจะมีพระส่วนตัวของใครของมัน มีพิธีศพเมื่อไร จะมีผู้แต่งตัวเป็นพระออกมาทำพิธี ไม่มีพิธีก็เป็นอิสระ จะไปทำอะไรก็ได้ นี่ก็คือยุค “กาสาวกัณฐะ” ที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก

ส่วนพระที่มีการศึกษา เป็น ดร. เป็น ศ. รศ. ผศ. ก็จะมีตำแหน่งหน้าที่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แบบเดียวกับที่ชาวบ้านเขาเป็นกัน ซึ่งก็คือมีสถานะเหมือนชาวบ้านเต็มตัว เช้าออกจาก “ที่พักส่วนตัวของพระ” เย็นกลับ “ที่พักส่วนตัวของพระ” เหมือนชาวบ้าน – ซึ่งเวลานี้ก็เป็นอย่างนั้นกันอยู่บ้างแล้ว

สรุปภาพทั้งหมดที่บรรยายมาก็คือ —

ชาวบ้านกำลังทำบ้านให้เป็นวัด 

ในขณะที่ชาววัดกำลังทำวัดให้เป็นบ้าน

(ยังมีต่อ ๖)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๒:๑๖

…………………………………….

วัดห้าหอ (๖)-จบ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

วัดห้าหอ (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *