บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๔)

วัดห้าหอ (๔)

————

“หอทั้งห้า” ดังที่แสดงมานี้เป็นที่แสดงออกบอกให้รู้ถึงวิถีชีวิตของชาววัดหรือวิถีชีวิตสงฆ์

“หอฉัน” บอกให้รู้ว่า พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน พระภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ ต้องฉันรวมกันที่หอฉัน (วัดเล็กมีหอฉันประจำวัด วัดใหญ่แบ่งเป็นคณะ มีหอฉันประจำคณะ)

การออกบิณฑบาตเป็นการประกาศให้รู้ว่าพระพุทธศาสนามาถึงและมีอยู่ ณ ท้องถิ่นนี้ 

ชาวบ้านใส่บาตรเป็นการประกาศให้รู้ว่าพระพุทธศาสนานั้นมีผู้นับถือเลื่อมใสและเต็มใจอุปถัมภ์บำรุง

บิณฑบาตแล้วมาฉันรวมกันที่หอฉัน บอกให้รู้ถึงความสมัครสมานสามัคคีของสงฆ์ อิ่มด้วยกัน อดด้วยกัน รับรู้ถึงสุขทุกข์ของกันและกัน พร้อมๆ ไปกับฝึกหัดอบรมกิริยามารยาทแบบธรรมเนียมต่างๆ ของชาววัด ช่วยกันรับรู้ ช่วยกันปฏิบัติ ช่วยกันถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อมิให้ขาดสาย

ปัจจุบันนี้มีพระภิกษุสามเณรจำนวนมากขึ้นที่ไม่ได้ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ยกสาเหตุต่างๆ ขึ้นอ้าง ซึ่งล้วนแต่มีเหตุมีผล สมเหตุสมผล เถียงไม่ขึ้น เถียงก็สู้ไม่ได้ เหตุผลที่ไม่ออกบิณฑบาตชนะทุกประตู 

แต่นั่นคือเหตุผลที่ทำให้วิถีชีวิตสงฆ์ผันแปรไป

ระลึกได้ไหม-ใครจะบวช อัฐบริขารต้องครบ 

๑ ในนั้นคือบาตร ขาดบาตรก็บวชไม่ได้ 

บาตรมีไว้ทำไม มีไว้เพื่อออกบิณฑบาต

บวชสำเร็จเป็นองค์พระ พระอุปัชฌาย์จะต้อง “บอกอนุศาสน์” คือสอนเรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ๘ เรื่อง แก่พระใหม่ทันทีก่อนที่จะออกจากโบสถ์ 

๑ ในนั้นคือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา …” วิถีชีวิตของนักบวชดำรงชีพด้วยอาหารที่ได้จากการออกบิณฑบาต …

หอฉันสื่อถึงการออกบิณฑบาต

การออกบิณฑบาตสื่อถึงวิถีชีวิตสงฆ์

วิถีชีวิตสงฆ์สื่อถึงความมีอยู่ของพระพุทธศาสนา

การไม่ออกบิณฑบาต (จะด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผลร้อยแปดพันเก้าอย่างใดๆ ก็ตามทีเถิด) วิถีชีวิตสงฆ์ก็ผันแปร

วิถีชีวิตสงฆ์ผันแปร พระพุทธศาสนาก็แปรผัน

น่าตระหนกหรือไม่ ของสำคัญถึงขนาดที่-ไม่มีบวชไม่ได้ สำคัญถึงขนาดที่ยกขึ้นเป็นประเด็นตรวจสอบซักถาม – ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ = บาตรและจีวรมีครบหรือเปล่า สำคัญขนาดนี้ แต่ครั้นบวชได้สำเร็จแล้ว เรากลับช่วยกันหาเหตุผลมาลดความสำคัญลงถึงขนาด-ไม่ต้องใช้บาตร ไม่ต้องออกบิณฑบาต ก็ยังเป็นพระอยู่ได้? 

ถ้ากระนี้แล้วจะต้องมีบาตรทำไม? น่าคิดหรือไม่?

ถ้ากระนี้ อีกไม่นาน บาตรจะมีไว้ในการบวชเพียงเพื่อเป็นพิธี และการบอกอนุศาสน์ก็จะเป็นกิจที่ทำพอเป็นพิธี

พวกเราด้วยกันเองนี่แหละกำลังช่วยกันเร่งทำให้เป็นเช่นนั้น เศร้าไหม

…………………

ฉันเสร็จ อนุโมทนา (เดี๋ยวนี้อนุโมทนากันข้างถนนขณะออกบิณฑบาต!!) พระแต่ละรูปจะถูกฝึกให้ “ขึ้นยะถา” หมุนเวียนกันไปแต่ละวัน วัดที่มีชาวบ้านมาเลี้ยงพระทุกวัน พระแต่ละรูปจะถูกฝึกให้กล่าวสัมโมทนียกถา คืออนุโมทนาเป็นภาษาไทยก่อนยะถาสัพพี 

พระสมัยก่อนจึง “แข็ง” ขึ้นเป็น สวดเป็น พูดเป็น สึกหาลาเพศไปก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำครอบครัว นำชุมชน สมกับเป็นทิด คือ “บัณฑิต” ทุกประการ

หลังเวลาฉันเช้าก็จะเป็นเวลาทำวัตรสวดมนต์ รู้ได้ด้วยการตีระฆัง

โดยปกติวัดต่างๆ จะตีระฆังวันละ ๒ เวลา คือเช้าครั้งหนึ่ง เย็นครั้งหนึ่ง เวลามาตรฐานคือเช้า-แปดโมง เย็น-ห้าโมง

ตีระฆังทำไม ตีเป็นสัญญาณบอกเวลาทำวัตรสวดมนต์ ชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังก็รู้ว่าพระท่านเริ่มทำกิจของสงฆ์แล้ว ก็จะพากันอนุโมทนา ขบวนการบุญก็หมุนเวียนขับเคลื่อนไปเป็นวงรอบ

ถ้าเป็นช่วงเวลาในพรรษา วัดต่างๆ จะเพิ่มการตีระฆังขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเวลาตีสี่ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทำวัตรเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นอีกเวลาหนึ่ง นอกจากเวลาเช้า-เย็นที่ทำอยู่แล้วตามปกติ เป็นการปฏิบัติธรรมให้เข้มข้นขึ้นให้สมกับเป็นช่วงเวลาพิเศษในรอบปี

ชั้นเดิม ตีสี่เป็นเวลาที่พระตื่นขึ้นมาครองผ้าตามสิกขาบทข้อหนึ่งที่บัญญัติว่า “ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้ราตรีหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์” 

…………………………………………

ถ้าจะพูดกันด้วยอกุศลจิต ก็น่าสงสัยว่า พระสมัยใหม่นี้รู้หรือเปล่าว่า “ครองผ้า” คืออะไร “ผ้าครอง” คืออะไร “อยู่ปราศจากไตรจีวรแม้ราตรีหนึ่ง” หมายความว่าอย่างไร แม้กระทั้ง “ต้องปาจิตตีย์” หมายถึงอะไร

…………………………………………

“ครองผ้า” ในทางปฏิบัติก็คือ ก่อนรุ่งอรุณ ไตรจีวรต้องนุ่งห่มอยู่กับตัวครบชุดไปจนกระทั่งสว่าง 

ปัญหาคือ “ก่อนรุ่งอรุณ” จะนับตั้งแต่เวลาไหน? เพื่อความปลอดภัย ไม่ต้องถกเถียงกัน ท่านจึงนิยมใช้เวลาตีสี่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะเวลาตีสี่ยังไม่รุ่งอรุณแน่ๆ แต่อีกไม่นานจะรุ่งอรุณ ฝ่ายชาวบ้านจะไปไถนา จะหุงข้าวใส่บาตร เขาก็จะลุกขึ้นเวลาราวๆ ตีสี่เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ตีสี่จึงเป็นเวลาดี นี่คือเหตุผลที่วัดต่างๆ ใช้เวลาตอนตีสี่ในพรรษาเป็นเวลาตีระฆังเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง

ผมสืบดูแล้ว ทั้งยังได้พบเห็นด้วยตัวเอง ยืนยันได้ว่า ตีระฆังตอนตีสี่ในพรรษาเป็นกิจที่วัดต่างๆ ทั้งในกรุงและชนบททำกันทั่วไปมาช้านาน

ครั้นต่อมา ก็เกิดความย่อหย่อนขึ้น น่าจะเกิดจากอัธยาศัยส่วนตัวของเจ้าอาวาสแต่ละรูป แต่ละวัด แต่ละสมัย ที่ไม่มีอุตสาหะ แต่ละวัดทยอยเลิกตีระฆังตอนตีสี่ในพรรษา จนในที่สุดก็เลิกกันไปเสียเป็นส่วนมาก 

จนกระทั่งถึงวันนี้ หลายวัดเจ้าอาวาสเองยืนยันว่า ตั้งแต่บวชมาวัดของท่านยังไม่เคยตีระฆังตอนตีสี่ในพรรษาเลย!! 

จะเคยได้อย่างไรในเมื่อเขาเลิกตีมาตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะบวช หรือเผลอๆ อาจจะก่อนที่ท่านจะเกิดด้วยซ้ำไป!!

(ยังมีต่อ ๕)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๗:๔๘

…………………………………….

วัดห้าหอ (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

วัดห้าหอ (๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *