อากาสานัญจายตนะ (บาลีวันละคำ 3,530)
อากาสานัญจายตนะ
อรูปพรหมชั้นที่หนึ่ง
อ่านว่า อา-กา-สา-นัน-จา-ยะ-ตะ-นะ
“อากาสานัญจายตนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อากาสานญฺจายตน” อ่านว่า อา-กา-สา-นัน-จา-ยะ-ตะ-นะ แยกศัพท์เป็น อากาสานญฺจ + อายตน
(๑) “อากาสานญฺจ”
อ่านว่า อา-กา-สา-นัน-จะ รูปศัพท์เดิมคือ อากาส + อนนฺต
(ก) “อากาส” อ่านว่า อา-กา-สะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาตบอกความปฏิเสธ = ไม่, ไม่ได้, ไม่ใช่) + กส (ธาตุ = ไถ, เขียน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง น เป็น อ (อะ) แล้วทีฆะ อ เป็น อา, ทีฆะ อะ ที่ ก-(สฺ) เป็น อา (กสฺ > กาส)
: น + กสฺ = นกสฺ + ณ = นกสณ > นกส > อกส > อากส > อากาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาพอันใครไถไม่ได้” (2) “สภาพอันใครเขียนไม่ได้” หมายถึง อากาศ, ท้องฟ้า, บรรยากาศ, ช่องว่าง (air, sky, atmosphere; space)
บาลี “อากาส” ใช้ในในภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “อากาศ” (ศ ศาลา สะกด) อ่านว่า อา-กาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) แก๊สผสมที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ ใช้หายใจหรือช่วยในการเผาไหม้เป็นต้น
(2) (ความหมายเชิงปรัชญา) ที่ที่ว่างเปล่าซึ่งมีอยู่เป็นเอกเทศจากสสาร, เป็นธาตุอย่าง 1 ใน 6 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุนํ้า) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) อากาศธาตุ (ที่ว่างเปล่า) และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้)
(3) ท้องฟ้า เช่น นกบินไปในอากาศ
(4) บางทีใช้หมายถึงสภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่ว ๆ ไป เช่น เช้านี้อากาศดีจัง
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป “อากาศ” คือ ที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไร
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “อากาส”
(ข) “อนนฺต” อ่านว่า อะ-นัน-ตะ ประสมขึ้นจากคำว่า น (ไม่, ไม่ใช่) + อนฺต
(1) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต (ตะ) ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ + ต = อมฺต > อนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง :
1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
3) ข้าง (side)
4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
(2) น + อนฺต แปลง น เป็น อน ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ–
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “อนฺต” ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ– จึงต้องแปลง น เป็น อน
: น > อน + อนฺต = อนนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีที่สุด” หมายถึง หาที่สุดมิได้, ไม่จบสิ้น, ไม่มีขอบเขต (endless, infinite, boundless)
ตามศัพท์ อนนฺต ไม่ได้แปลว่า “มากล้น” แต่สิ่งใด “ไม่มีที่สุด” สิ่งนั้นย่อมส่อนัยว่า มากมาย มากเหลือล้นนั่นเอง
บาลี “อนนฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนันต” “อนันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนันต-, อนันต์ : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ้นสุด, มากล้น, เช่น อนันตคุณ คุณอนันต์. (ป.).”
: อากาส + อนนฺต = อากาสานนฺต (อา-กา-สา-นัน-ตะ) แปลว่า “อากาศไม่มีที่สุด”
แปลง “อากาสานนฺต” เป็น “อากาสานญฺจ” ความหมายคงเดิม
: อากาสานนฺต > อากาสานญฺจ (อา-กา-สา-นัน-จะ)
(๒) “อายตน”
อ่านว่า อา-ยะ-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อา + ยตฺ = อายตฺ + ยุ > อน = อายตน (อา-ยะ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ผู้ต้องการผลพยายาม” (ผู้ต้องการผลอันใดอันหนึ่ง ไปลงมือพยายามทำกิจเพื่อผลนั้นในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า “ที่เป็นที่ผู้ต้องการผลพยายาม”)
(2) อา (ผล)+ ตน (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: อาย + ตนฺ = อายตนฺ + อ = อายตน (อา-ยะ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายผลของตนไป”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อายตน” ว่า อายตนะ, ที่อยู่, ที่เกิด, ที่ประชุม, เหตุ, บ่อเกิด, เทวาลัย, เจดีย์, ลัทธิ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “อายตน” ไว้ดังนี้ –
(1) stretch, extent, reach, compass, region; sphere, locus, place, spot; position, occasion (ระยะ, เขต, ปริมณฑล, ดินแดน, ถิ่น, สถานที่, จุด; ตำแหน่ง, โอกาส)
(2) exertion, doing, working, practice, performance (ความพยามยาม, การกระทำ, การทำงาน, การปฏิบัติ, การประกอบ)
(3) sphere of perception or sense in general, object of thought, sense-organ & object; relation, order (ขอบเขตของความเข้าใจหรือความรู้สึกโดยทั่วๆ ไป, สิ่งที่คิดถึง, สิ่งที่รับรู้ และธรรมารมณ์; ความสัมพันธ์, ลำดับ)
ในที่นี้ “อายตน” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อายตนะ : (คำนาม) เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ เช่น ตาเป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่รู้, ในพระพุทธศาสนาหมายถึง จักษุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน เป็นเครื่องติดต่อกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์. (ป., ส.).”
พึงทราบว่า ตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้นี้เป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้นของคำว่า “อายตน” ในบาลี
อากาสานญฺจ + อายตน = อากาสานญฺจายตน (อา-กา-สา-นัน-จา-ยะ-ตะ-นะ) แปลว่า “ภูมิแห่งผู้บรรลุฌานกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้”
“อากาสานญฺจายตน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อากาสานัญจายตนะ” (อา-กา-สา-นัน-จา-ยะ-ตะ-นะ) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายคำว่า “อากาสานัญจายตนะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
อากาสานัญจายตนะ : ฌานกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์, ภพของผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน (ข้อ ๑ ในอรูป ๔)
…………..
และที่คำว่า “อรูป” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ มีคำอธิบายดังนี้ –
…………..
อรูป : ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ ๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๒. วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์) ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)
…………..
ขยายความ :
เพื่อให้เห็นที่มาของคำว่า “อากาสานัญจายตนะ” ชัดเจนขึ้น ขอนำคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถามาเสนอดังนี้ –
…………..
อากาสานญฺจายตนํ สมาปนฺนสฺสาติ เอตฺถ
ในคำว่า อากาสานญฺจายตนํ สมาปนฺนสฺส (ผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน) นี้ (มีคำอธิบายที่มาของชื่อ “อากาสานัญจายตนะ” ดังต่อไปนี้)
นาสฺส อนฺโตติ อนนฺตํ ฯ
ที่สุดแห่งอากาศนั้นไม่มี เหตุนั้น อากาศนั้นจึงชื่อ อนันตะ
อากาสํ อนนฺตํ อากาสานนฺตํ
อากาศไม่มีสุด ชื่อว่า อากาสานันตะ
อากาสานนฺตเมว อากาสานญฺจํ
(คำว่า) “อากาสานันตะ” นั่นเอง แปลงรูปคำเป็น “อากาสานัญจะ”
ตํ จ อากาสานญฺจํ อธิฏฺฐานฏฺเฐน อายตนมสฺส สสมฺปยุตฺตธมฺมสฺส ฌานสฺส เทวานํ เทวายตนมิวาติ อากาสานญฺจายตนํ
อากาสานัญจะนั้นด้วย เป็นอายตนะแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้นด้วย โดยคำว่า “อายตนะ” มีความหมายว่าเป็นที่ตั้งมั่น (หรือเป็นที่คงอยู่) ดังคำว่า “อายตนะ” ในคำว่า “เทวายตนะ” หมายถึง “ที่อยู่แห่งเทวดา” ฉะนั้น ด้วยเหตุผลดังว่านี้ จึงชื่อว่า “อากาสานัญจายตนะ” (มีความหมายว่า ภูมิแห่งผู้ได้ฌานระดับที่เพ่งพิจารณาอากาศอันมีขอบเขตกว้างไกลหาที่สุดมิได้)
กสิณุคฺฆาติมากาสารมฺมณชฺฌานสฺเสตํ อธิวจนํ ฯ
คำว่า “อากาสานัญจายตนะ” นี้เป็นชื่อของฌานที่มีกสิณุคฆาฏิมากาศเป็นอารมณ์*
ตํ อากาสานญฺจายตนํ สมาปนฺนสฺส กุสลกิริยชฺฌานํ สมาปนฺนสฺส ฯ
ภิกษุผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานนั้นคือผู้บรรลุอรูปฌานกุศลและอรูปฌานกิริยา
ที่มา: สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส (คุหฏฺฐกสุตฺตนิทฺเทสวณฺณนา) หน้า 137-138
…………..
*กสิณุคฆาฏิมากาศ หมายถึง ช่องว่างที่เกิดจากการเพิกกสิณนิมิต คือช่องว่างหรืออากาศอันอนันต์ที่เป็นอารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน
…………..
“อากาสานัญจายตนะ” จัดอยู่ในภูมิที่เรียกว่า “อรูปาวจรภูมิ” ชั้นของพรหมผู้ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน คือที่เรียกรวมว่า “อรูปพรหม” และเป็นอรูปพรหมชั้นที่หนึ่ง
ภูมิของอรูปพรหมมี 4 ระดับ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรื่องที่เข้าใจยาก ไม่ได้แปลว่าเข้าใจไม่ได้
: ไม่มีอุตสาหะที่จะทำความเข้าใจต่างหากที่เป็นเหตุให้เข้าใจไม่ได้
#บาลีวันละคำ (3,530)
10-2-65
…………………………….