บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ยกย่องผี ย่ำยีพระ

ยกย่องผี ย่ำยีพระ

—————–

ในพระไตรปิฎก มีคำว่า “ธมฺมวาทีธรรมวาที” = ผู้กล่าวธรรม หรือผู้กล่าวถูกธรรม

คู่กับคำว่า “อธมฺมวาทีอธรรมวาที” = ผู้มิได้กล่าวธรรม หรือผู้กล่าวไม่ถูกธรรม

โปรดศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎก ดังต่อไปนี้ –

………………………………………….

หนฺท  มยํ  อาวุโส  ธมฺมญฺจ  วินยญฺจ  สงฺคายาม  ปุเร  อธมฺโม  ทิปฺปติ  ธมฺโม  ปฏิพาหิยติ  อวินโย  ทิปฺปติ  วินโย  ปฏิพาหิยติ  ปุเร  อธมฺมวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  ธมฺมวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺติ  อวินยวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  วินยวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺตีติ. 

ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒

พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๑๔

………………………………………….

แปลประโยคต่อประโยค:

………………………………………….

หนฺท  มยํ  อาวุโส  ธมฺมญฺจ  วินยญฺจ  สงฺคายาม. 

เอาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด 

ปุเร  อธมฺโม  ทิปฺปติ  ธมฺโม  ปฏิพาหิยติ. 

ในภายหน้า สภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรื่อง ธรรมจักเสื่อมถอย 

อวินโย  ทิปฺปติ  วินโย  ปฏิพาหิยติ. 

สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรื่อง วินัยจักเสื่อมถอย 

ปุเร  อธมฺมวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  ธมฺมวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺติ. 

ในภายหน้า อธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง 

อวินยวาทิโน  พลวนฺโต  โหนฺติ  วินยวาทิโน  ทุพฺพลา  โหนฺตีติ. 

อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง

………………………………………….

ข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมานี้ เป็นตอนที่กล่าวถึงพระมหากัสสปเถระชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ให้เป็นระเบียบ หลังพุทธปรินิพพานได้สามเดือน

โปรดทราบว่า พระสงฆ์ในเวลานั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ท่านรู้อนาคตด้วยว่าพระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ 

แต่แทนที่ท่านจะปล่อยให้เสื่อมไปเฉยๆ ท่านกลับมีอุตสาหะรวบรวมขึ้นไว้ 

ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า พระธรรมวินัยที่ท่านอุตส่าห์รวบรวมไว้นี้ ในที่สุดก็จะเสื่อมสูญ 

พระอรหันต์ท่านคิดอย่างไร?

พยายามอ่านหัวใจท่านให้ออก เราจะรู้สึกถึงเมตตาธรรมที่บริสุทธิ์และคุณค่าแห่งพระธรรมวินัยอันประเสริฐ แล้วพึงมีอุตสาหะเร่งปฏิบัติดำเนินตามให้ได้ลิ้มอมตรสในขณะที่พระศาสนายังไม่ทันอันตรธาน

ยุคสมัยของเรานี้ นับตามห้วงเวลาก็คือ “ปุเร” ที่แปลว่า “ในภายหน้า” ที่ท่านพยากรณ์ไว้ 

ยุคสมัยนี้ “ธรรมวาที” มีน้อยลง 

อธรรมวาที” มีมากขึ้น

แต่ “อธรรมวาที” นั้น ไม่ได้แขวนป้ายว่าตนหรือพวกของตนเป็น “อธรรมวาที” 

ตรงกันข้าม มักจะยืนยันแข็งขันว่า ตนและพวกของตนเป็น “ธรรมวาที” 

นี่คือปัญหา และนี่แหละคือหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษา สังเกต สำเหนียกให้เข้าใจแน่ชัดถึงลักษณะของ “ธรรมวาที” และ “อธรรมวาที” ตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง 

จะได้ไม่ไป “ยกย่องผี ย่ำยีพระ” 

คือไปหลงระรื่นกับคนพาล 

แต่รุมระรานคนดี

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๑:๐๔

………………………………………

ยกย่องผี ย่ำยีพระ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *