บาลีวันละคำ

สุทัสสี (บาลีวันละคำ 3,528)

สุทัสสี

รูปพรหมชั้นที่สิบห้า

อ่านว่า สุ-ทัด-สี 

สุทัสสี” เขียนแบบบาลีเป็น “สุทสฺสี” อ่านว่า สุ-ทัด-สี รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + อี ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส 

: สุ + ทิสฺ = สุทิสฺ > สุทสฺส + อี = สุทสฺสี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เห็นได้ง่าย” 

ในภาษาบาลี “สุทสฺสี” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) ได้รูปเป็น “สุทสฺสี” (พหูพจน์) และเปลี่ยนรูปเป็น “สุทสฺสิโน” ก็มี

สุทสฺสี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุทัสสี” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “สุทัสสี” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้ 

…………..

สุฏฺฐุ  ปสฺสนฺติ  สุนฺทรเมเตสํ  วา  ทสฺสนนฺติ  สุทสฺสี  ฯ

ชื่อว่า สุทัสสี เพราะพรหมเหล่านั้นเห็นได้ง่ายอย่างยิ่ง นัยหนึ่งว่าการเห็นพรหมเหล่านั้นเป็นการดีงาม

ที่มา:

สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย หน้า 124

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 836

…………..

จตุตฺถตลวาสิโน  สุปริสุทฺธทสฺสนตฺตา  สุเขน  ปสฺสนฺตีติ  สุทสฺสิโน  ฯ

พวกพรหมผู้อยู่ในชั้นที่ 4 ชื่อว่าสุทัสสี โดยความหมายว่า เห็นได้โดยง่าย เพราะเป็นพรหมพวกที่เห็นได้ถนัดชัดเจนดี

ที่มา: อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า 159

…………..

หมายเหตุ: ว่าตามรูปศัพท์ ชื่อพรหม “สุทัสสี” กับ “สุทัสสา” มีรากศัพท์เหมือนกัน ความหมายก็เหมือนกัน แต่ดูตามคำอธิบายเหมือนกับจะบอกว่า “สุทัสสา” หมายความว่า “เห็นได้งาย” ส่วน “สุทัสสี” หมายความว่า “เห็นได้งายอย่างยิ่ง” เป็นความต่างกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ

อย่างไรก็ตาม น่าศึกษาสืบค้นต่อไปว่า มีเหตุผลอะไรอีกที่ใช้ชื่อที่มีรากศัพท์เหมือนกัน แต่มีอะไรอยู่ในชื่อที่ส่อแสดงว่าต่างกัน

…………..

สุทัสสี” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 15 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น 

สุทัสสี” เป็นพรหมที่อยู่ในชั้นที่เรียกว่า “สุทธาวาส” ซึ่งมี 5 จำพวก คือ อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม และอกนิฏฐพรหม 

สุทัสสีพรหมเป็นพรหมชั้นที่ 4 ในชั้นสุทธาวาส มีอายุยืนยาว 8,000 กัป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงทำตัวให้ใครเห็นแล้วรู้สึกสบายใจ

: ก็เท่ากับคืนกำไรให้แก่โลกนี้

#บาลีวันละคำ (3,528)

8-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *