บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวร

ความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวร

——————————–

จะเข้าใจความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ต้องเข้าใจเรื่อง “สัทธา ๔” ก่อน

สัทธา ๔ ประกอบด้วย –

กัมมสัทธา (กำ-มะ-สัด-ทา) หมายความว่า เชื่อกรรม, เชื่อการกระทำ, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

วิปากสัทธา (วิ-ปา-กะ-สัด-ทา) หมายความว่า เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว ผลดีผลชั่วไม่ได้เกิดเองลอยๆ

กัมมัสสกตาสัทธา (กำ-มัด-สะ-กะ-ตา-สัด-ทา) หมายความว่า เชื่อความที่แต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของผลกรรม จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน 

ตถาคตโพธิสัทธา (ตะ-ถา-คะ-ตะ-โพ-ทิ-สัด-ทา) หมายความว่า เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง 

………………..

เวลานี้มีผู้เชื่อ “เจ้ากรรมนายเวร” กันมาก “เจ้ากรรมนายเวร” ตามความเชื่อหรือความเข้าใจของคนทั่วไปมักหมายถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่มีอำนาจบันดาลให้เกิดโทษ เกิดทุกข์ เกิดปัญหาต่างๆ

หลักสัจธรรมคือ “ผลเกิดแต่เหตุ” ปัญหาต่างๆ ที่มีผู้เชื่อว่าเกิดจากเจ้ากรรมนายเวรบันดาลให้เป็นไป จึงไม่ตรงกับหลักสัจธรรม

ทุกข์ โทษ ความเดือดร้อนต่างๆ เป็นผลมาจากการกระทำเหตุ การขอร้องต้องการไม่ให้เกิดผล เช่นขอให้เจ้ากรรมนายเวรบันดาลอย่าให้เกิดผลร้าย หรือขอเลิกแล้วต่อกันเป็นต้น จึงผิดหลักเหตุผล

“สัทธา” ข้อหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ “กัมมัสสกตาสัทธา” 

กัมมัสสกตาสัทธา” โดยความหมายก็คือการยอมรับผลของการกระทำ เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ถูกต้อง 

ปัจจุบันเราไม่ได้อบรมกันให้รู้จักผิดชอบ จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปว่า ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมรับโทษอันเกิดจากการกระทำผิดซึ่งตนเป็นผู้ทำเองแท้ๆ

ถ้าไม่ต้องการรับผล ก็อย่าทำเหตุ – นี่คือหลักสัจธรรม

ทำเหตุแล้วไม่ยอมรับผล – นี่คือความวิปริต

ต้องการผลที่เป็นความสุข แต่ไปทำเหตุที่เป็นความทุกข์ แล้วไปอ้อนวอนเจ้ากรรมนายเวรให้ช่วยปัดเป่าป้องกันทุกข์ นี่เป็นสุดยอดของความวิปริต และความไม่รับผิดชอบ

ถ้าเราไม่ฝึกสอนคนของเรา-ซึ่งก็คือฝึกสอนตัวเอง-ให้รู้จักรับผิดชอบ

สังคมก็จะวิปริตไปเรื่อยๆ

และถ้าเรามัวแต่คิดว่า เรารู้จักรับผิดชอบอยู่คนเดียว แต่คนอื่นๆ อีกเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านเป็นสิบล้านร้อยล้านพันล้านไม่รู้จักรับผิดชอบ จะมีผลอะไร และเราจะต้องแบกภาระรับผิดชอบไปคนเดียวทำไม – ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เท่ากับเรานั่นเองเป็นคนหนึ่งที่กำลังช่วยกันทำสังคมให้วิปริตยิ่งขึ้น

เรารู้จักรับผิดชอบ-แม้เพียงคนเดียว และแม้จะไม่มีผลอะไรเลยต่อภาพรวมของสังคม (ที่มีแต่คนไม่รับผิดชอบ)-แต่ก็มีผลที่ยิ่งใหญ่ต่อตัวเราเอง นั่นคือเรากำลังก้าวขึ้นสู่ทางแห่งอริยชน เรากำลังลงมือฝึกตนด้วยดี ซึ่งในที่สุดจะสามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่องค์พระตถาคตได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง 

ถ้าไม่เริ่มคิดอย่างนี้ เราก็จะจมอยู่กับโลกที่วิปริตไปชั่วกัปกัลป์นิรันดร

เลือกเอาสิ 

จะเป็นคนกล้า

หรือจะเป็นคนขลาด

…………………………………………

คนกล้า วิ่งไปรับผลของการกระทำอย่างองอาจ

คนขลาด วิ่งไปอ้อนวอนเจ้ากรรมนายเวร

…………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๖:๒๓

……………………………………..

ความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *