สมมต – สมมติ – สมมุติ (บาลีวันละคำ 377)
สมมต – สมมติ – สมมุติ
คำที่เป็นหลักใน 3 คำนี้ คือ สม + มต
“สม” บาลีเป็น สํ (สัง) แปลงนิคหิต (เครื่องหมายกลมๆ บน ส) เป็น มฺ = สมฺ อ่านว่า สำ
“มต” (มะ-ตะ, เป็นคำกริยา) แปลว่า “รู้แล้ว”
ลง ติ ปัจจัย เป็น “มติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด
แปลง อ (ที่ ม) เป็น อุ เป็น “มุติ” (เป็นคำนาม) แปลว่า ญาณ, ปัญญา, ความรู้, ความเข้าใจ, สติปัญญา, การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์
มต, มติ, มุติ เติม “สมฺ” เข้าข้างหน้า ได้รูปเป็น สมฺมต, สมฺมติ, สมฺมุติ เขียนแบบไทยเป็น สมมต, สมมติ, สมมุติ (ลบจุดใต้ ม ตัวแรก)
สมมต, สมมติ อ่านแบบไทยว่า สม-มด
สมมุติ อ่านแบบไทยว่า สม-มุด
ทั้งสามคำนั้นแปลตามศัพท์ว่า “รู้พร้อมกัน” “รับรู้ร่วมกัน” “ยอมรับร่วมกัน”
ภาษาไทย ใช้ในความหมายที่แตกต่างออกไป พจน.42 บอกไว้ดังนี้
– “รู้สึกนึกเอาว่า” เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง
– “ต่างว่า, ถือเอาว่า” เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 จะไปเที่ยวรอบโลก
– “ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง” เช่น สมมติเทพ
คำตามความหมายเหล่านี้ เราออกเสียงเป็น สม-มุด กันโดยทั่วไป
: สมมุติไม่ใช่เรื่องจริง แต่เมื่อสมมุติให้เป็นอะไร จงทำหน้าที่นั้นให้จริง
————–
(เก็บตกจากคำปรารภของ Likhit Channopakao)
บาลีวันละคำ (377)
26-5-56
สมมติ (ประมวลศัพท์)
การรู้ร่วมกัน, การตกลงกัน, การมีมติร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน; การที่สงฆ์ประชุมกันตกลงมอบหมายหรือแต่งตั้งภิกษุให้ทำกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สมมติภิกษุเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี สมมติภิกษุเป็นภัตตุเทศก์ เป็นต้น; ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า ตกลงกันว่า ต่างว่า
มติ = ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด (ศัพท์วิเคราะห์)
(ธี ปญฺญา พุทฺธิ มุติ ภูริ ฯลฯ)
มนติ ชานาตีติ มติ ธรรมชาติที่รู้
มน ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ติ ปัจจัย ลบ น ที่สุดธาตุ
มุติ = ญาณ, ปัญญา, ความรู้
มุนาตีติ มุติ ธรรมชาติที่รู้
มุ ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ติ ปัจจัย
มนติ ชานาตีติ มุติ
มน ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ติ ปัจจัย แปลง อ เป็น อุ ลบที่สุดธาตุ
มติ (บาลี-อังกฤษ)
(อิต.) จิตใจ, ความเห็น, ความคิด, การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือความปรารถนา
มุติ (บาลี-อังกฤษ)
(อิต.) การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์, ความเข้าใจ, สติปัญญา
สมฺมต (ก.กิ.) (บาลี-อังกฤษ)
๑ พิจารณา
๒ ให้เกียรติ, นับถือ
๓ อนุญาต, เลือกเฟ้น, ยินยอม
สมฺมติ ๑
๑ สงบ, เงียบ, สิ้นลง
๒ พักผ่อน, อาศัยอยู่
สมฺมติ ๒
อ่อนเพลียหรือเหน็ดเหนื่อย
สมฺมติ ๓
ทำงาน, พึงพอใจ
มติ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความรู้, ความเห็น.
มติ
[มะติ] น. ความเห็น, ความคิดเห็น, เช่น ที่ประชุมลงมติ มติของข้าพเจ้า, ความรู้; ข้อวินิจฉัยญัตติที่เสนอต่อที่ประชุม. (ป., ส.).
สมมต, สมมติ, สมมติ-, สมมุติ, สมมุติ-
[สมมด, สมมด, สมมดติ-, สมมุด, สมมุดติ-] ก. รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง.สัน. ต่างว่า, ถือเอาว่า, เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก.ว. ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมติเทพ.