กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา
——————————–
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีคนชอบเอาไปอ้างผิดๆ
ในกาลามาสูตร (ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕) พระพุทธองค์ตรัสหลักความเชื่อไว้ข้อหนึ่ง คำบาลีว่า
“มา ปิฏกสมฺปทาเนน”
(มา ปิ-ตะ-กะ-สำ-ปะ-ทา-เน-นะ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ ๓๑๗ แปลเป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by the authority of texts.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิฏกสมฺปทาเนน” ว่า according to the Piṭaka tradition or on the ground of the authority of the Piṭaka. (ตามที่ฟังมาจากปิฎก หรือเนื่องจากปิฎกบัญญัติไว้)
คนที่ฟังไม่ได้ศัพท์มักเอากาลามสูตรข้อนี้ไปอ้างว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อตำรา”
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา แต่สอนว่า-อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา หรือโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา
“เชื่อตำรา” กับ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” มีความหมายต่างกัน
“เชื่อตำรา” ก็อย่างเช่นเชื่อว่า –
ตำราของอาจารย์คนนี้เชื่อถือได้
ถ้าเป็นตำราของอาจารย์คนอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้
ตำราของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เชื่อถือได้
ถ้าเป็นตำราของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นอาจเชื่อถือไม่ได้
นี่คือ “เชื่อตำรา”
ส่วน “เชื่อโดยการอ้างตำรา” หมายถึง ถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นแต่เพียงมีคนพูดให้ฟังหรือบอกกันต่อๆ มา หรือแค่หนังสือพิมพ์ลงข่าวหรือวิทยุออกข่าว ก็จะไม่เชื่อหรอก แต่นี่มีเขียนไว้ในตำรา (จะเป็นตำราของสำนักไหนหรือใครเขียนก็ช่างเถิด) จึงต้องเชื่อ
นี่คือ “เชื่อโดยการอ้างตำรา” คือเชื่อโดยการมอบความไว้วางใจให้แก่ตำรา
กาลามาสูตรสอนไม่ให้เชื่อโดยการอ้างตำราแบบนี้
ทั้งนี้เพราะเรื่องที่เขียนไว้เป็นตำราไม่อาจรับประกันได้เสมอไปว่าถูกต้อง
ตำราที่เขียนไว้ผิดๆ ก็มี
อนึ่ง พึงสังเกตว่า กาลามสูตรข้อนี้ท่านใช้คำว่า “ปิฎก” ซึ่งหมายถึงตำราหรือคัมภีร์ทั่วไป
กาลามสูตรไม่ได้ใช้คำว่า “ไตรปิฎก”
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเอาไปพูดเจาะจงว่า “กาลามสูตรสอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก”
การพูดเช่นนี้ผิดพลาดถึง ๒ ชั้น
ชั้นหนึ่ง “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก” ก็ผิดแล้ว
ท่านว่า “ปิฎก”
แต่เอาไปพูดเป็น “ไตรปิฎก”
อีกชั้นหนึ่ง ท่านว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างปิฎก”
เอาไปพูดเป็น “สอนไม่ให้เชื่อพระไตรปิฎก”
ผิดความหมายและผิดความมุ่งหมาย กลายเป็นคนละเรื่องไป
แต่ถ้าพูดว่า “สอนไม่ให้เชื่อโดยอ้างพระไตรปิฎก” ย่อมฟังได้
เพราะพระไตรปิฎกอยู่ในฐานะเป็น “ตำรา” ชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน หมายความว่า อย่าอ้างว่า “เพราะเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก จึงต้องเชื่อ”
ถ้าจะเชื่อ ต้องเชื่อเพราะได้พิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
ไม่ใช่ว่า-เห็นเรื่องอะไรมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเป็นเชื่อหมด
…………………………..
ตำราทำได้แค่บอกวิธี
ชั่วดีเราต้องทำเอง
…………………………..
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๔:๕๘
………………………………………
กาลามสูตรไม่ได้สอนไม่ให้เชื่อตำรา
………………………………………..