บาลีวันละคำ

สวรรคาลัย (บาลีวันละคำ 530)

สวรรคาลัย

(บาลีไทย)

อ่านว่า สะ-หฺวัน-คา-ไล

เทียบบาลีเป็น “สคฺคาลย” อ่านว่า สัก-คา-ละ-ยะ

ประกอบด้วย สคฺค + อาลย

สคฺค” (สันสกฤตเป็น สฺวรฺค) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ) “แดนที่ติดข้อง

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน) พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “โลกของเทวดา, เมืองฟ้า

ฝรั่งแปล “สคฺคสวรรค์” ว่า heaven, the next world แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)

ตามปกติคำว่า “สคฺค” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี

อาลย” รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) แปลง อิ ที่ ลิ เป็น = ลย : อา + ลิ (= ลย) = อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่

อาลย” ภาษาไทยเขียนเป็น “อาลัย” ในทางรูปธรรม หมายถึง สถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, ในทางนามธรรม หมายถึง ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความรักใคร่ (ดูรายละเอียดที่ อาลัย บาลีวันละคำ (321) 29-3-56)

สคฺค + อาลย = สคฺคาลย > สฺวรฺคาลย > สวรรคาลัย ตามศัพท์แปลว่า “แดนสวรรค์

พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง), (กลอน) ตาย

ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “สคฺคาลย” แต่มีคำว่า “สคฺคคต” (สัก-คะ-คะ-ตะ) ตรงกับคำว่า “สวรรคต” และ “ทิวงฺคต” (ทิ-วัง-คะ-ตะ) ตรงกับคำว่า “ทิวงคต” ทั้งสองศัพท์นี้แปลว่า “ไปสวรรค์” หมายถึง ตาย

สันนิษฐานว่า “สวรรคาลัย” คำเดิมในภาษาไทยคงจะเป็น “สวรรค์ครรไล” (สะ-หฺวัน-คัน-ไล) แปลว่า “ไปสวรรค์” (ครรไล = ไป) แต่พูดเพี้ยนเป็น สะ-หฺวัน-คา-ไล แล้วเลยเขียนเป็น “สวรรคาลัย” พจน.42 จึงให้ความหมายว่า “ตาย” (= “ไปสวรรค์”) แต่บางกรณีที่ใช้พูดหรือเขียนกัน หมายถึง “แดนสวรรค์” อันเป็นความหมายที่ตรงตามรูปศัพท์

พุทธภาษิต :

คพฺภเมเก  อุปปชฺชนฺติ  บางคนกลับมาเกิดเป็นคนเป็นสัตว์

นิรยํ  ปาปกมฺมิโน  คนบาป บาปซัดตกนรกหลง

สคฺคํ  สุคติโน  ยนฺติ  คนดี  บุญส่งสู่สวรรคาลัย

ปรินิพฺพนฺติ  อนาสวา.  ท่านที่สิ้นกิเลสแล้วไซร้ ไปนิพพาน

28-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย