บาลีวันละคำ

มารวิชย (บาลีวันละคำ 378)

มารวิชย

อ่านว่า มา-ระ-วิ-ชะ-ยะ

ภาษาไทยเขียน “มารวิชัย” อ่านตามหลักภาษาว่า มา-ระ-วิ-ไช อ่านตามสะดวกปากว่า มาน-วิ-ไช

มารวิชย” ประกอบด้วย มาร + วิชย

มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

วิชย” แปลว่า ชัยชนะ, ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต

มารวิชยมารวิชัย” แปลว่า “ชนะมาร

คำนี้ไม่พบในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก แต่มีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา และท่านระบุว่า “มาร” ในที่นี้คือ “กิเลส

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายคำ “มารวิชัย” ว่า “ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางควํ่าลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ว่า พระปางมารวิชัย, พระปางชนะมาร หรือ พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก

ความจริง คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องมีอยู่ว่าเจ้านายพระองค์หนึ่งไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ เห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งช่างทำพุทธลักษณะไม่งาม จึงตรัสอย่างเป็นคำคะนองด้วยอารมณ์ขันว่า “พระองค์นี้น่ากลัวจะสะดุ้งมาร

คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำเตะหู ผู้ได้ยินคำนั้นเอาไปพูดต่อกันไป เลยติดหูและติดปาก แล้วกลายเป็นคำที่เรียกกันไปจริงๆ มาจนทุกวันนี้

: เข้าใจผิดทุกวาร ก็ “สะดุ้งมาร” ทุกวัน

: เข้าใจถูกเมื่อใด ก็ “มารวิชัย” เมื่อนั้น

บาลีวันละคำ (378)

27-5-56

มาร ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ผู้ให้ตาย, มาร.

วิชย นป.

ความชนะ.

วิชย (บาลี-อังกฤษ)

ชัยชนะ, ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต

มาร (ประมวลศัพท์)

1. สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ

        ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส

        ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์

        ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม

        ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร

        ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย

2. พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ท่าน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจรคือปรนิมมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

มารวิชัย

ชนะมาร, พิชิตมาร

มารวิชัย

 [มาระ-, มาน-] น. ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางควํ่าลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ว่า พระปางมารวิชัย, พระปางชนะมาร หรือ พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก. (ป.).

มารวิชย ในคัมภีร์

มหาโพธิมณฺเฑ  กิเลสมารวิชยํ  กตฺวา

สารัตถปกาสินี ภาค ๒ หน้า อรรถกถาสัตตัฏฐานสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

มารวิชยํ  อาทึ  กตฺวา

มโนรถปูรณี ภาค ๑ หน้า ๑๕๓

โพธิปลฺลงฺเก  มารวิชยํ …พุทฺธคุเณ  อาวชฺชิตฺวา

อรรถกาถาธรรมบท ปกิณณกวรรค อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ ภาค ๗ หน้า ๙๑

เย  วา  อิเม  คพฺโภกฺกนฺติสมโย  ชาติสมโย  สํเวคสมโย

อภินิกฺขมนสมโย  ทุกฺกรการิกสมโย  มารวิชยสมโย  อภิสมฺโพธิสมโย 

ทิฏฺํธมฺมสุขวิหารสมโย  เทสนาสมโย  ปรินิพฺพานสมโยติ  เอวมาทโย 

ภควโต  เทวมนุสฺเสสุ  อติวิย  ปกาสา  อเนกกาลปฺปเภทาเอว  สมยา 

เตสุ  สมเยสุ  เทสนาสมยสงฺขาตํ  เอกํ  สมยนฺติ  ทีเปติ  ฯ

อีกอย่างหนึ่ง  สมัยเหล่านี้ใดของพระผู้มีพระภาค แยกประเภทกาลเวลาออกมากมาย

ที่ปรากฏชัดอย่างยิ่งในหมู่เทวดาและมนุษย์ เป็นต้นอย่างนี้คือ –

คพฺโภกฺกนฺติสมโย  สมัยเสด็จลงสู่พระครรภ์

ชาติสมโย  สมัยประสูติ

สํเวคสมโย  สมัยเกิดความสังเวช

อภินิกฺขมนสมโย  สมัยเสด็จออกผนวช

ทุกฺกรการิกสมโย  สมัยทรงกระทำทุกรกิริยา

มารวิชยสมโย  สมัยชนะมาร

อภิสมฺโพธิสมโย  สมัยตรัสรู้

ทิฏฺํธมฺมสุขวิหารสมโย  สมัยอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม

เทสนาสมโย  สมัยตรัสเทศนา

ปรินิพฺพานสมโย  สมัยเสด็จปรินิพพาน

พระอานนทเถระแสดงว่า ในบรรดาสมัยเหล่านั้น สมัยหนึ่งกล่าวคือสมัยตรัสเทศนา.

สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๕๐ อรรถกถาพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

ปปัญจสูทนี ภาค ๑ หน้า ๑๓ อรรถกถามูลปริยายสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๒ อรรถกถาเทวตาสังยุต สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

มโนรถปูรณี ภาค ๑ หน้า ๑๔ อรรถกถารูปาทิวรรค เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย

ปรมัตถโชติกา อรรถกถามังคลสูตร ขุททกปาฐะ หน้า ๑๔๓

ปรมัตถทีปนี อุททานวัณณนา หน้า ๓๒

สัทธัมมปกาสินี ภาค ๒ หน้า ๑๖๑ อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค อินทรยกถาวัณณนา

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย