บาลีวันละคำ

เวหัปผลา (บาลีวันละคำ 3,523)

เวหัปผลา

รูปพรหมชั้นที่สิบ

อ่านว่า เว-หับ-ผะ-ลา เขียนแบบบาลีเป็น “เวหปฺผลา” 

เวหปฺผลา” บาลีอ่านว่า เว-หับ-ผะ-ลา รากศัพท์มาจาก วิปุล + ผล

(๑) “วิปุล” 

อ่านว่า วิ-ปุ-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปุลฺ (ธาตุ = มาก, ใหญ่) + (อะ) ปัจจัย

: วิ + ปุลฺ = วิปุลฺ + = วิปุล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมาก” หรือ “ใหญ่” หมายถึง ใหญ่, กว้างขวาง, ยิ่งใหญ่, ล้นเหลือ (large, extensive, great, abundant)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิปุล” บอกไว้ว่า 

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิปุล : (คำคุณศัพท์) ‘วิบุล,’ ใหญ่, กว้าง; ลึก, ซึ้ง; large, great, broad; deep, profound;- (คำนาม) เมรุบรรพต; ภูเขาหิมาลัย; นรผู้ควรบูชา; พสุธา; the mountain Meru; the Himālaya mountain; a respectable man; the earth.”

ในภาษาไทย เอาคำที่มีเค้าเงื่อนมาจาก “วิปุล” มาใช้หลายรูป เช่น วิบุล วิบูล วิบุลย์ วิบูลย์ พิบุล พิบูล และที่มาจากรากเดียวกันกับ วิปุล > เวปุลฺล > ไวปุลฺย > ไพบูลย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิบุล, วิบูล : (คำวิเศษณ์) เต็ม, กว้างขวาง, มาก, ใช้ว่า วิบุลย์ หรือ วิบูลย์ ก็มี. (ป., ส. วิปุล).”

(๒) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร” 

ผล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

วิปุล + ผล, แปลง วิปุล เป็น เวห, ซ้อน ปฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง

: วิปุล > เวห + ปฺ + ผล = เวหปฺผล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีผลอันไพบูลย์” หมายถึง เวหัปผลพรหม, พรหมโลกชั้นเวหัปผลา 

ในภาษาบาลี “เวหปฺผล” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) จึงเปลี่ยนรูปเป็น “เวหปฺผลา

เวหปฺผลา” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “เวหัปผลา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “เวหัปผลา” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้ 

…………..

วิปุลา  ผลา  เอเตสนฺติ  เวหปฺผลา  ฯ

พรหมเหล่านั้นชื่อว่า เวหัปผลา เพราะมีผล (แห่งการเจริญฌาน) กว้างขวาง

ที่มา: สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 836

…………..

ฌานปฺปภาวนิพฺพตฺตํ  วิปุลํ  ผลเมเตสนฺติ  เวหปฺผลา  ฯ

พรหมเหล่านั้นชื่อว่า เวหัปผลา เพราะมีผลกว้างขวางซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน

ที่มา: ที่มา: อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า 158

…………..

สรุปว่า “เวหัปผลา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 10 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น เป็นผู้ที่เจริญฌานระดับจตุตถฌานมาเกิด มีอายุยืนยาว 500 กัป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อายุ 500 กัปยังต้องเวียนตายเวียนเกิด

: ดังฤๅจะประเสริฐเท่าอายุ 100 ปีแต่บรรลุธรรม

#บาลีวันละคำ (3,523)

4-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *