ดูกันตรงไหนว่าไร้สาระ
ดูกันตรงไหนว่าไร้สาระ
————————
เราท่านทั้งหลายที่พูดได้ คงจะเคยพูดคำว่า “ไร้สาระ” กันมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อเห็นใครทำอะไร พูดอะไร หรือคิดอะไร ไม่ถูกใจเรา หรือที่เราไม่เห็นด้วย เราก็จะบอกว่า “ไร้สาระ” หมายความว่า สิ่งที่เขาทำ-พูด-คิดนั้น ไม่มีประโยชน์-อย่างน้อยก็ในความเห็นของเรา
คำไทยว่า“ไร้สาระ” มีคำบาลีใช้เรียก ๓ คำ
……………………………………
“อสาร” (อะ-สา-ระ) = ไม่มีสาระ
“นิสฺสาร” (นิด-สา-ระ) = สาระออกไปแล้ว
“สาราปคต” (สา-รา-ปะ-คะ-ตะ) = ออกไปจากสาระ
ที่มา: คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ ข้อ ๗๙๘
……………………………………
ขออธิบายโดยอัตโนมัตยาธิบาย ดังนี้ –
“อสาร” หมายถึง สิ่งนั้นไม่เป็นสาระหรือไม่มีสาระอยู่ในตัวเองมาแต่เดิม นี่คือ “ไร้สาระ” แท้ๆ
“นิสฺสาร” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้สาระที่มีอยู่นั้นได้ออกไปจากตัวเสียแล้ว ตัวที่เหลืออยู่ในบัดนี้ไม่มีสาระ จึงเรียกว่า “ไร้สาระ”
“สาราปคต” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้ตัวเองได้ทิ้งสาระไว้ตรงนั้นแล้วออกไปที่อื่นเสียแล้ว ขณะนี้ตัวเองจึง “ไร้สาระ”
…………..
เพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ไร้สาระ” ดียิ่งขึ้น ขอนำข้อความในคัมภีร์มหานิทเทสและคัมภีร์จูฬนิทเทสที่อุปมาสิ่งที่ “ไร้สาระ” ว่าเหมือนอะไรบ้างมาแสดงในที่นี้ ดังรายการต่อไปนี้ –
(๑) นโฬ = ต้นอ้อ
(๒) เอรณฺโฑ = ต้นละหุ่ง
(๓) อุทุมฺพโร = ต้นมะเดื่อ
(๔) เสตคจฺโฉ = ต้นรัก
(๕) ปาลิภทฺทโก = ต้นทองกวาว
(๖) ปุพฺพุฬกํ = ต่อมน้ำ (หยาดน้ำที่ตกลงเป็นโป่งเล็กๆ)
(๗) เผณุปิณฺโฑ = ฟองน้ำ (ฝ้าเหนือน้ำ)
(๘) มรีจิ = พยับแดด
(๙) กทลิกฺขนฺโธ = ต้นกล้วย
(๑๐) มายา = การแสดงกล
รายการ (๑) – (๕) และ (๙) เป็นต้นไม้ที่ไม่มีแก่น (แก่น = สาร) จึง “ไร้สาระ” ตรงตัว
รายการ (๖) และ (๗) เป็นสิ่งที่ไม่คงทนยั่งยืน คือมีอยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็หายไป จึง “ไร้สาระ”
รายการ (๘) มองเห็นแต่ไกล เหมือนมี แต่พอเข้าไปหาก็ไม่เห็น จึง “ไร้สาระ”
รายการ (๑๐) มายา คือการแสดงกล เหมือนจริง แต่ไม่จริง คือหาความจริงไม่ได้ จึงถือว่า “ไร้สาระ”
…………..
การจะเข้าใจสิ่งไรว่าเป็นสาระหรือไร้สาระ ท่านว่าขึ้นอยู่กับ “สังกัป” ที่เราแปลกันว่า “ความดำริ” ของแต่ละคน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺกปฺป” ว่า thought, intention, purpose, plan (ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ)
ถ้า “สังกัป” เป็นมิจฉา (wrong) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่ามีสาระ และเห็นสิ่งที่มีสาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นผิดจากความเป็นจริง ก็จะไม่พบสาระที่แท้จริง
ถ้า “สังกัป” เป็นสัมมา (right) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ก็จะได้พบสาระที่แท้จริง
ในทางธรรม คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๕๐) แสดงธรรมที่เป็น “สาระ” ว่ามี ๔ อย่าง คือ คือ –
(๑) ศีล: ควบคุมพฤติกรรมทางการกระทำและคำพูดให้อยู่กรอบที่ดีงาม
(๒) สมาธิ: ฝึกจิตให้ดิ่งนิ่งหนักแน่นมั่นคงในทางที่ดีงาม
(๓) ปัญญา: พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันถูกต้องตามความเป็นจริง
(๔) วิมุตติ: จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง อันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา
ต่อไปนี้ เวลาจะแสดงความเห็นว่าใครหรืออะไร “ไร้สาระ” ขอให้ลองพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ท่านว่าไว้ดังที่นำมาแสดงไว้นี้
เพื่อที่ว่าคำตัดสินของเราว่า “ไร้สาระ” จะได้ไม่กลายเป็นคำที่ “ไร้สาระ” ไปเสียเอง
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๑๑:๑๙
………………………………………..
ดูกันตรงไหนว่าไร้สาระ